เพื่อน คนในวงการบันเทิง รวมถึงแฟนเพลง ของนักร้องเสียงดี จั๊ก-ชวิน จิตรสมบูรณ์ ร่วมกันให้กำลังใจอย่างล้นหลาม หลังเจ้าตัวออกมาประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Chawin Chitsomboon ถึงอาการป่วยในวันนี้ (5 ก.ย.2566) ว่าตนเองมีอาการป่วยจากการติดเชื้อวัณโรค ทำให้ต้องยกเลิกงานบางส่วนเพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้นก่อน ใจยังชื้นที่รู้ตัวเร็ว ทำให้ยังมีโอกาสรักษาได้ ย้ำขอคนมาเยี่ยมใส่หน้ากากอนามัย N95 เท่านั้น
บางทีมันก็มีเหตุผลให้เราเจริญมรณานุสติมาตลอดหลายปีนี้
เพื่อนสนิทของเราคนหนึ่งที่เพิ่งเสียชีวิตไปด้วยโรควัณโรคเมื่อต้นปีนี้เป็นคนที่เราดูแลกันมาตลอด 10 กว่าปีเราคลุกคลีกันมานาน
จนคุณหมอบอกว่าคุณได้รับเชื้อจากเพี่อนแน่นอนแต่ว่าเชื้อนั้นอาจใช้เวลาเพาะเป็นปีหรือ 10 ถึง 20 ปีก็ได้
สรุปคือวัณโรครับประทานปอด ยังดีที่รู้เร็ว ก็ รักษากันไป น่าจะได้นอนอยู่โรงบาลหลายวันแคนเซิลงานไปแล้วบางส่วน
ส่วนเพื่อนเพื่อนพี่น้องที่จะมาเยี่ยมกรุณาใส่หน้ากากN95 เท่านั้นนะครับ
#จั๊กชวิน #ระนะจั๊ก_รักนะจ๊ะ
จั๊ก หรือ เจี๊ยบตอนโต แฟนฉัน
"เจี๊ยบ ตอนโต" เป็นภาพจำที่ติดตาสำหรับแฟนเพลงและคนทั่วไป ที่มักจะจำ จั๊ก ได้ นับเป็นการแจ้งเกิดในวงการจอเงินกับการรับบท "เจี๊ยบ ตอนเป็นผู้ใหญ่" จากภาพยนตร์แฟนฉันที่ฉายในปี 2546 หรือเมื่อ20 ปีที่แล้ว
แต่ จั๊ก แจ้งเกิดเป็นศิลปินเต็มตัวในนามวง "ดับเบิ้ลยู" วงดนตรีดูโอ้ ชาย-หญิง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2541 มีเพลงที่ดัง เป็นที่รู้จักมาจนถึงยุคนี้ อาทิเช่น เธอสวย, ตัวจริงของเธอ เป็นต้น จากนั้นก็ผันตัวเองมาเป็นศิลปินอิสระ ใช้ชีวิตกับลูกชาย 1 คน จนกระทั่งเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อพบว่าตนเองเป็นโรควัณโรค
วัณโรค ภัยร้ายซ่อนตัวในปอด
ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค ระบุว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ทำให้มีการอักเสบในปอด ซึ่งในผู้ใหญ่มักจะพบส่วนใหญ่เป็นที่ปอด ในเด็กอาจเป็นที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง กระดูก
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis พบในปอดของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา เด็กมักจะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ทำให้เชื้อกระจายในอากาศ
เชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis พบในปอดของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา
ในห้องที่ทึบอับแสง เชื้อวัณโรคอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ ถ้าเสมหะที่มีเชื้อลงสู่พื้นที่ไม่มีแสงแดดส่อง เชื้ออาจอยู่ได้ในเสมหะแห้งได้นานถึง 6 เดือน เชื้อจะกระจายอยู่ในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจเอาเชื้อเข้าไป บางครั้งเชื้ออาจผ่านจากแม่ไปยังลูกในท้องโดยผ่านทางรกได้
ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการของโรค ได้แก่
การติดเชื้อในวัยทารก และ ในวัยหนุ่มสาว การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ (ได้รับเชื้อเพิ่มขึ้น) ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยเฉพาะการติดเชื้อ HIV ผู้ติดยาเสพติด และ โรคขาดอาหาร
ระยะฟักตัวของโรค เมื่อแรกรับเชื้อจนถึงเมื่อให้ผลทดสอบเป็นบวกประมาณ 2-10 สัปดาห์ ระยะที่มีโอกาสเกิดอาการของโรคได้มากที่สุดคือ ใน 2 ปีแรกหลังติดเชื้อ โดยทั่วไปแล้วถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้อที่เข้าไปจะซ่อนตัวอยู่เงียบๆ โดยไม่ทำให้เกิดอาการของโรค ถ้าร่างกายอยู่ในสภาพที่แข็งแรงดี
ภาพประกอบข่าว
แต่ถ้าสุขภาพทรุดโทรมลงหรือมีภาวะเสี่ยงต่างๆ เชื้อที่สงบนิ่งอยู่ก็จะออกมาทำให้เกิดอาการของโรคได้ ในระยะห่างจากการได้รับเชื้อเข้าไปเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังมีอาการไอ และยังไม่ได้รับการรักษาด้วยยารักษาวัณโรค
- ในผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ที่ตรวจได้ผลเป็นบวก แพทย์จะพิจารณาให้ยาป้องกัน Isoniacid นาน 2-3 เดือน
- ให้วัคซีน BCG ป้องกัน ในประเทศที่มีโรควัณโรคชุกชุม WHO แนะนำให้เริ่มให้ BCG วัคซีนตั้งแต่แรกเกิด
การรักษา
ปัจจุบันมียารักษาวัณโรคที่ได้ผลดีหลายชนิด การรักษาจะให้ยาร่วมกันอย่างน้อย 3 ชนิด เพื่อลดอัตราการดื้อยา และ เพิ่มประสิทธิภาพของยา
ยาที่ใช้ได้แก่ Streptomycin, Pyrazinamide, Rifampin, Isoniacid, Ethambutol
การรักษาจะได้ผลดีถ้ามารับการรักษาเสียแต่ระยะเริ่มแรก จะต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และ จะต้องดูแลให้ผู้ป่วยพักผ่อนและให้อาหารที่มีโปรตีนสูง มีวิตามิน เพื่อช่วยเพิ่มความต้านทานโรค
อ่านข่าวอื่น :
2 แรงงานทำลาย "กำแพงเมืองจีน" สร้างทางลัดลดเวลาเดินทาง
ไม้เถาล้มลุก "ดองดึง" ดอกสวยเป็นไม้ประดับ หัว-รากเป็นสมุนไพร