ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เครือข่าย STRONG พิทักษ์ป่า ป้องปรามทุจริตด้านทรัพยากรฯ

ภูมิภาค
11 ก.ย. 66
13:57
1,397
Logo Thai PBS
เครือข่าย STRONG พิทักษ์ป่า ป้องปรามทุจริตด้านทรัพยากรฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัญหาบุกรุกป่า ลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ภาคอีสาน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายคดีมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกระทำผิด ทำให้ ป.ป.ช. และเครือข่ายป่าชุมชน ร่วมทำงานเชิงรุกป้องปรามการทุจริตด้านทรัพยากรฯ หรือโมเดล STRONG พิทักษ์ป่า เตรียมขยายการทำงานทั่วประเทศ

แกนนำเครือข่ายป่าชุมชนในจังหวัดร้อยกว่า 150 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล และวางแนวทางการทำงานปกป้องป่าเชิงรุก ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการแนวทางลดการทุจริตด้านทรัพยากรป่าไม้ สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ป.ป.ช.

หลังพบว่าตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ภาคอีสาน เผชิญปัญหาการลักลอบตัดไม้มีค่า โดยเฉพาะไม้พะยูงอย่างต่อเนื่อง

และหลายคดีมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่การดำเนินคดีอาจทำได้ล่าช้า จับกุมได้เฉพาะคนตัดไม้หรือคนขนย้ายไม้เท่านั้น ผู้ต้องหาบางคนได้รับการประกันตัว และกลับมาตัดไม้พะยูงซ้ำ ยากที่จะสาวไปถึงตัวการใหญ่ ข้าราชการระดับสูง ผู้มีอิทธิพลหรือนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง

ขณะที่ชาวบ้านที่ทำงานเป็นจิตอาสาปกป้องป่า ต้องเสี่ยงปะทะกับขบวนการค้าไม้พะยูงที่มีอาวุธ แต่หลายคนยังตั้งใจทำหน้าที่ลาดตระเวนปกป้องผืนป่า

เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยื่นหลักฐานการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้าไม้มีค่าและไม้เศรษฐกิจข้ามชาติ ให้กับ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต

ขบวนการนี้จะนำไม้มีค่า เช่น ไม้พะยูง ไม้ตะเคียน ไม้มะค่า ที่ลักลอบตัดจากเขตป่าอนุรักษ์และพื้นที่สาธารณะ ไปสวมตอและส่งขายต่างประเทศ มีตัวกลางเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานหนึ่ง เป็นผู้โอนเงินเคลียร์เจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานต่างๆ

จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าว พบรายการโอนเงินมูลค่ากว่า 14 ล้านบาท ไปยังเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ อีก 29 คน มี เจ้าหน้าที่ป่าไม้และอุทยานฯ รวม 17 คน, ตำรวจ 8 นาย, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง 2 คน, เจ้าหน้าที่อัยการ 1 คน และเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. อีก 1 คน

กรณีนี้สร้างความกังวลใจ ให้กับชาวบ้านที่พยายามปกป้องไม้มีค่าในป่าชุมชน เพราะพวกเขากำลังเผชิญหน้ากับขบวนการค้าไม้มีค้าข้ามชาติ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก

การป้องปรามทุจริตเชิงรุก

นายธีรัตน์ บางเพ็ชร ผอ.สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ประสบการณ์ในการติดตามคดี ทั้งการอายัดไม้ประดู่เกือบ 4 พันท่อน ที่จังหวัดสกลนคร เมื่อปี 2564 หลังประชาชนแจ้งเบาะแสว่าไม้บางส่วนถูกตัดในเขตป่า และนำมาสวมตอไม้ในที่ดินเอกสารสิทธิ์ ก่อนส่งขายต่างประเทศ

และการทำคดีลักลอบตัดไม้พะยูงอายุกว่า 150 ปี มูลค่า 15 ล้านบาท ในสำนักสงฆ์บ้านพยอม ต.ดินดำ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด เมื่อเดือนเมษายน 2565 ทำให้พบข้อจำกัดของงานด้านปราบปราม ที่ทำได้ล่าช้า ขณะที่ผู้กระทำผิดยังสามารถก่อเหตุซ้ำ

คดีนี้ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ 2 คนร่วมกระทำผิด และยึดเงินขายไม้ได้ 1,700,000 บาท แต่ระหว่างสอบสวนคดี ไม้พะยูงบริเวณนี้ก็ถูกตัดอีกถึง 2 ต้น โดยที่ชาวบ้านหวาดกลัวไม่กล้าให้ข้อมูล ทั้งที่เชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกระทำผิดมากกว่า 2 คน ชาวบ้านยังเรียกร้องให้ ป.ป.ช. รับไต่สวนคดีนี้ เพราะไม่ไว้ใจการทำคดีของตำรวจ

นายไชยยศ ไชยพฤกษ์ เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริต จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า

ทราบว่าตอนนี้ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะรับไต่สวนคดีนี้ หรือส่งเรื่องให้ตำรวจสอบสวนต่อ ผมไหว้ ป.ป.ช.นะครับ อย่าส่งให้ตำรวจทำคดีนี้ ชาวบ้านไม่ไว้ใจ เพราะช่วงแรกที่สอบสวนคดี ชาวบ้านยังบอกว่าเรื่องขายไม้พะยูงมีตำรวจเข้ามายุ่ง
เจ้าหน้าที่รัฐบางคนไม่ใช่แค่ไปมีส่วนร่วม แต่ทำหน้าที่บงการ วางแผน เป็นนายหน้าค้าไม้มีค่าในป่า และไม้พะยูงในป่าชุมชน วัด และโรงเรียน เสียเอง  

นายธีรัตน์กล่าวว่า การทำงานป้องปรามการทุจริตเชิงรุก จะต้องอาศัยภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม หรือที่เรียกว่า โมเดล STRONG พิทักษ์ป่า ที่เริ่มต้นเป็นแห่งแรกที่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี 2565 ในปีนี้ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และเตรียมขยายการทำงานจากจุดเริ่มต้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดไปยังทั่วประเทศ

เพื่อหนุนเสริมชาวบ้านร่วมตรวจสอบ แจ้งข้อมูล โดยมี เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เป็นพี่เลี้ยง ให้ความรู้และคำแนะนำด้านกฎหมาย ลงพื้นที่ร่วมติดตามความคืบหน้าทางคดี เพื่อสร้างความมั่นใจ ให้กับเครือข่ายป่าชุมชนที่ต้องปะทะกับขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงในป่าชุมชนในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

โมเดล STRONG พิทักษ์ป่า

จากบทบาทของเครือข่ายป่าชุมชนเกือบ 200 แห่งใน จ.ร้อยเอ็ด นำไปสู่จุดเริ่มต้นการสร้างเครือข่าย STRONG พิทักษ์ป่า เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ป่าชุมชนดงทำเลดอนใหญ่ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โดย นายธีรัตน์ บางเพ็ชร ผอ.สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการ ป.ป.จ.ร้อยเอ็ด

นายดวงจันทร์ พาลำโกน ประธานเครือข่ายป่าชุมชน จ.ร้อยเอ็ด และเป็นเครือข่าย STRONG พิทักษ์ป่า แห่งแรกของประเทศ บอกว่า การทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. ทำให้เขาเข้าใจการทำงานการปกป้องดูแลป่าในรูปแบบใหม่ ที่มี ป.ป.ช.เป็นพี่เลี้ยง

เพราะ เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เขาและเครือข่ายป่าชุมชน ทำหน้าที่ดูแลไม้ยางนาอายุหลายร้อยปี และไม้พะยูงกว่า 1,400 ต้นให้รอดพ้นจากขบวนการลักลอบตัดไม้ พวกเขาจับปืน ออกลาดตระเวนทุกวัน ในช่วงปี 2554-2555 เสี่ยงชีวิตปะทะกับขบวนการลักลอบตัดไม้ แต่เพราะความมุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

ต่อมาใน ปี 2563 ปัญหาเริ่มกลับมารุนแรงอีกครั้ง มีการลักลอบเข้ามาตัดไม้พะยูง และเมื่อปลายปี 2565 ชาวบ้านควบคุมตัวผู้ที่กำลังขนไม้ไว้ได้ ก่อนแจ้งตำรวจมานำตัวไปดำเนินคดี แต่ผ่านไปไม่กี่เดือนกลับพบว่าผู้ต้องหากลับมาตัดไม้อีกรอบ

ผอ.ป.ป.ช. ลงพื้นที่จริง แนะนำให้เราเข้าใจกฎหมาย และรู้ว่าขบวนการค้าไม้มีค่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง เราเป็นแค่ชาวบ้านจะไปติดตามทวงถามความคืบหน้าคดี ก็ทำได้ยาก แต่เมื่อมี เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ร่วมทำงานก็พบว่าทำคดีรวดเร็วขึ้น ตำรวจทำงานเร็วขึ้น ชาวบ้านก็มีกำลังใจ 

ส่วนที่ป่าชุมชนดงน้ำคำ ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เครือข่าย STRONG พิทักษ์ป่า แห่งที่ 2 ก็กำลังเผชิญปัญหาขบวนการค้าไม้เข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูงในป่าชุมชน พบร่องรอยการใช้สว่านเจาะดูเนื้อไม้ ตัดกิ่ง ผูกโยงต้นไม้ ทยอยตัดเป็นท่อนๆ เพื่อไม่ให้ไม้ล้ม จนเกิดเสียงดังทำให้เครือข่ายพิทักษ์ป่าหรือชาวบ้านได้ยิน

นายจุมพล โคตรคำ เครือข่ายสตรองพิทักษ์ป่า จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ชาวบ้านทำงานด้วยความเสียสละ พยายามลาดตระเวนป้องกันผู้ที่เข้ามาลักลอบตัดไม้ แต่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ก็ยังมีความพยายามเข้ามาตัดไม้อย่างต่อเนื่อง และยังพบว่าคนที่ตัดไม้ใช้สารเสพติดอีกด้วย

ถึงแม้ชาวบ้านจะมีใจสู้ แต่ก็อยากเห็นกระบวนการยุติธรรมนำตัวผู้กระทำผิด หรือตัวการใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าไม้มีค่ามาลงโทษ

กรณีนี้นายมงคล ศรีสว่าง ผอ.สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติ ป.ป.ช. เป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านกฎหมายกับเครือข่ายป่าชุมชน และร่วมติดตามคดีลักลอบตัดไม้พะยูง ให้ความเห็นว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งมีความซับซ้อน อีกทั้งต้องให้ความเป็นธรรมกับคู่กรณีทุกฝ่าย และต้องทำคดีให้รัดกุมที่สุด

ถึงแม้จะทำคดีอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่ทันต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ป.ป.ช.จึงต้องทำงานป้องกันเชิงรุก เพื่อทำให้จำนวนคดีลดน้อยลง โดยหาแนวร่วมป้องกันไม่ให้เกิดคดี

อย่างไรก็ตาม ทั้งการป้องกันและการปราบปรามต้องเดินไปด้วยกัน หากป้องกันอย่างเดียว การปราบปรามไม่มีประสิทธิภาพ การป้องกันก็อ่อนกำลังลงได้ และถึงจะเป็นการป้องนำปราบ แต่การปราบปรามต้องมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล 

ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแนวทางลดการทุจริตด้านทรัพยากรป่าไม้ ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้ประสานการทำงานแบบบูรณาการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ให้ความรู้กับเครือป่าชุมชน เพื่อวางแนวทางการดูแลป่า และเตรียมศึกษาการเข้าร่วมโครงการภาคป่าไม้ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต นำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่ทำให้เครือข่ายป่าชุมชนมีรายได้ มาบริหารจัดการดูแลผืนป่า

เครือข่ายป่าชุมชนมองว่า การสร้างรายได้ในลักษณะนี้ มีความจำเป็นเพื่อทำให้การปกป้องดูแลผืนป่า สามารถส่งต่อให้กับเยาวชน คนรุ่นต่อๆไป เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลป่าชุมชนอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง