วันนี้ (14 ก.ย.2566) พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ มอบนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" นโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และนโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง เป็น 2 ภารกิจหลัก ที่ กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงในช่วง 4 ปี
โดยนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบไปด้วย การปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครู การส่งเสริมให้ครูคืนถิ่น กลับไปสอนตามภูมิลำเนา การแก้ปัญหาหนี้สินครู และการจัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้ครู ด้วยโครงการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต
ส่วนนโยบายการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ประกอบไปด้วย การส่งเสริมให้ผู้เรียน เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา เรียนฟรี มีงานทำ และมีระบบและแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยจะมีการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน ผ่านโครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งโครงการนี้ จะเริ่มดำเนินการแจกแท็บเล็ตนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายก่อน โดยจะต้องประเมินงบประมาณอีกครั้ง เพื่อไม่ให้กระทบโครงการอื่น
พล.ต.อ.เพิมพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ
น่าจะเป็นเด็กโตก่อน ม.4-ม.6 ก่อน ต้องดูงบประมาณ เนื่องจากเราเป็นรัฐบาที่เข้ามาช่วยรอยต่อปีงบประมาณปี 67 ต้องไปศึกษาว่ามีงบประมาณอะไรไหมที่พอจะเจียดมาได้ ถ้าปรับได้เท่าไรก็ดูตัวนั้นก่อน และปีต่อไป ค่อยมาจัดสรรงบประมาณอีกครั้ง ไม่ให้กระทบงบอื่น
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ การจัดระบบการแนะแนวการเรียนการสอนอย่างมีเป้าหมาย การจัดทำระบบรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรประกอบวิชาชีพ การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา และการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน จบมามีงานทำ
นโยบายแก้หนี้สินครู ถือเป็นเรื่องหลัก ตอนรับราชการตำรวจก็เป็นประธานคณะทำงานแก้ไขหนี้สินตำรวจ มาจากอะไรมาจากไปเรียนหลักสูตร ได้เจอกับคณะกรรมการที่แก้ไขครูจึงนำมาแก้ไขตำรวจด้วย ซึ่งได้มีการดำเนินการต่อเนื่องอยู่ 2 ปี ก็สามารถแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง
เชื่อว่าประสบการณ์ในการแก้ไขหนี้สินตำรวจสามารถนำมาใช้กับครูได้ในระดับหนึ่ง แต่ครูมีกำลังพลกว่า 4 แสนคน อาจจะต้องใช้ระยะเวลา
การแก้ไขปัญหาหนี้ ต้องสร้างความเข้าใจในการวางแผนการใช้เงิน รู้จักออม โดยนำเศรษฐกิจเพียงมาใช้ ส่วนคนที่มีปัญหาหนี้สิน ต้องแนะนำในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
ผมมีปรัชญาใช้ในการแก้ปัญหาหนี้สินตำรวจ คือ “ไม่เบี้ยว ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย ไม่ตาย” เพราะเมื่อก่อน ตำรวจชอบฆ่าตัวตายเมื่อมีปัญหาหนี้สิน ผมบอกว่า อย่าตาย คุณตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร คนอื่นจะอยู่อย่างไร
และผมจะบอกเพื่อนร่วมงานบอกว่า ถ้าเขาตายคุณจะใส่ซองเท่าไหร่ คุณเอามาให้เขาก่อนตายดีกว่าไหม? คุณมาช่วยเพื่อนร่วมงานก่อนดีไหม เอาให้ตอนนี้เลย ตายไปแล้วมันไม่ได้หรอก ก็ช่วยกัน ตำรวจก็ช่วยกันแก้ไขปัญหา มีหลายรายที่แก้ปัญหาแล้ว ก็บอกว่าอับจนด้วยปัญญาจริงๆ ก็จะฆ่าตัวตาย
ผมว่าครูก็ไม่แตกต่างกับตำรวจที่อยากฆ่าตัวตาย แต่โชคดีหน่อยที่ครูไม่มีปืนอยู่ใกล้ตัว ก็เลยไม่ฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม ไม่ฆ่าตัวตายดีแล้ว อย่างไรเราต้องช่วยกัน
ซึ่งในกระบวนการแก้ไขปัญหา ต้องศึกษาปัญหาต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายเวลาไปสอน อาจจะรวมรถกันไป นั่งรถไปด้วยกัน และอยู่ด้วยความพอเพียง ผมเข้าใจว่าครูอาจจะมีหน้ามีตา เช่น ครูไปงานแต่งงาน ต้องใส่ซองหลักร้อยบาท แต่ตำรวจโชคดีหน่อยใส่ 20 บาท ก็ได้ไม่เป็นไร จึงต้องพยายามแก้ไขค่านิยมเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับพอเพียง มี 20 บาท ก็ใส่ 20 บาท ไม่มีเงินก็ไม่เป็นไร ไปงานก็ไปช่วยเขา ไปช่วยล้างจาน ก็มีเกียรติแล้ว ต้องเปลี่ยนค่านิยมพวกเรา ในการอยู่อย่างพอเพียง
ซึ่งครูแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเขียวคือกลุ่มคนที่มีสภาพคล่องในการแก้ไข กลุ่มเหลืองคือกลุ่มคนที่มีปัญหาหนี้สินบ้างเล็กน้อย ส่วนกลุ่มแดงคือกลุ่ม NPL
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"เศรษฐา" ยันดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 ไม่กู้เงิน-ขอเวลา 1 เดือนแจงแหล่งที่มา
นายกฯ ยืนยัน "แค่ทางเลือก" ไม่บังคับจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 งวด