ปฏิบัติการจู่โจมนำหมายค้นเข้าตรวจค้นบ้านพัก "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. จำนวน 5 ภายในซอยวิภาวดี 60 หลังมีข้อมูลกลุ่มลูกน้องคนสนิท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายตำรวจติดตามและร่วมทำคดีสำคัญๆ กับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้าไปเกี่ยวข้องเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มพนันออนไลน์รายใหญ่ของประเทศ
ภาพที่ปรากฏเป็นข่าว นอกจากจะทำให้เห็นภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษขณะเตรียมการตรวจค้นพร้อมอาวุธครบมือแล้ว สำหรับคอข่าวในแวดวงสีกากีและประชาชนทั่วไป อาจเกิดความสงสัยในภารกิจของหน่วยต่างๆ ภายใต้สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ในแต่ละครั้งที่เปิดยุทธการจู่โจมตรวจค้น จะมีหน่วยงานใดบ้าง และแต่ละหน่วยใช้สิ่งใดเป็นสัญลักษณ์
สำหรับหน่วยงานที่เข้าทำการตรวจค้น บ้านพักของ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ประกอบด้วย กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ตำรวจไซเบอร์ PCT ชุด PCT4 , กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง , ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (คอมมานโด) มาดูว่าภารกิจหลักของแต่ละหน่วยทำสิ่งใดบ้าง
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (Central Investigation Bureau : CIB) หรือ บช.ก. เป็นหน่วยงานระดับกองบัญชาการ อยู่ในส่วนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ภายใต้การอำนวยการของ "บิ๊กก้อง" พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยมีวิสัยทัศน์ในการทำงาน คือ "มืออาชีพ เป็นกลาง เคียงข้างประชาชน"
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2484 จากการก่อตั้งกองสอบสวนกลาง และรับโอนภารกิจจากตำรวจสันติบาล จำนวน 3 กองกำกับการมาอยู่ในการดูแล คือ กองกำกับการ 1 สืบสวนปราบปรามโจรผู้ร้าย กองกำกับการ 3 เทคนิคตำรวจ และกองกำกับการ 5 ตำรวจสรรพสามิตร
และได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2485 แบ่งส่วนความรับผิดชอบของกองสอบสวนกลางเป็น 3 กองกำกับการ คือ
- กองกำกับการกอง 1 ค้นคว้าสมมุติฐานของการประทุษร้าย มี 5 แผนก
- กองกำกับการกอง 2 ทะเบียน มี 5 แผนก
- กองกำกับการกอง 3 วิชาการตำรวจ แบ่งเป็น 5 แผนก
พ.ศ.2491 กองสอบสวนกลาง ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แบ่งส่วนราชการเป็น 12 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองทะเบียน กองตำรวจสันติบาล กองปราบปราม กองตำรวจรถไฟ กองตำรวจจราจรทางหลวง กองตำรวจน้ำ กองวิทยาการ กองการสื่อสาร กองยานยนต์ โรงเรียนสืบสวน กองพิเศษ และกองกำกับการโรงเรียนตำรวจสอบสวนกลาง
สางปมคดีดังภารกิจ CIB
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีภารกิจหลักในการถวายความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเฉพาะทาง อาชญากรรมที่มีความซับซ้อนที่มีลักษณะเป็นองค์กร หรือมีขอบเขตอำนาจนอกเหนือจากตำรวจท้องที่จะดำเนินการ ซึ่งรวมไปถึงอาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย โดยมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ปราบปรามอาชญากรรม สืบสวนสอบสวนครอบคลุมทั้งประเทศ
คดีเด่นกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เช่น ปี 2566 คดีทลายแก๊งตั๋วทิพย์ ตุ๋นวิ่งขึ้นตำแหน่ง ผกก.พบเงินหมุนเวียนกว่า 600 ล้านบาท , รวบตัวผู้ต้องหา "ฆ่าสองสามีภรรยา" ที่ไต้หวัน ยกแก๊ง , รวบ “อาหยง” นายทุนแดนมังกร หัวโจกเครือข่ายตุ๋นคนไทยเป็น Scammer ที่ประเทศพม่า เหยื่อแฉถูกโกนหัว-ไฟฟ้าช็อต , ทลายรังโจร “แก๊งเจ๊พลอยชลบุรี” เปิดเพจหลอกจำนำรถ จ่ายเงินไถ่ไม่ได้รถคืน , จับกุมข้าราชการระดับสูงกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรียกรับเงิน ,
ปี 2566 คดีใหญ่อุกอาจกำนันนกนครปฐม ตกเป็นผู้ต้องหาคดีสั่งมือปืนสังหาร ตำรวจทางหลวง , บุกค้นบ้าน "บิ๊กโจ๊ก" หาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเว็บพนันออนไลน์
กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ (คอมมาโด)
กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ (Special Service Division : SSD) หรือรู้จักกันในชื่อของตำรวจหน่วยคอมมานโด เป็นหน่วยตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
แต่ก่อนมานั้น จอมพลเผ่า ศรียานนท์ ก่อตั้ง หน่วยคอมมานโด ขึ้นที่ กองปราบสามยอด ตั้งในช่วง พ.ศ. 2499 ยุคอันธพาลครองเมือง โดยการระดมตำรวจทั่วประเทศมาเพื่อฝึกและรับมือกับอันธพาลเหล่านั้น
จากนั้นได้ย้ายมาก่อสร้างที่โชคชัย 4 บรรจุอยู่ใน แผนก 5 กก.2 บก.ป เมื่อ พ.ศ. 2508 มีแค่อาคารไม้ กก.ปพ ,กองรักษาการณ์ และโรงโภชนาการเป็น 3 อาคารแรก ต่อมาสร้างตึก บก. พ.ศ.2514
จากนั้นเมื่อ พ.ศ.2561 ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกองบังคับการ และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมราชทานนามหน่วยงานใหม่ เป็น “กองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ” โดยมี พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บังคับการคนแรก
ปี 2562 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามเป็น “กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904” โดยมี พล.ต.ต.สยาม บุญสม เป็นผู้บังคับการคนแรก
และในปี 2563 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนาม อีกครั้งเป็น “กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ” โดยมี พล.ต.ต.ภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นผู้บังคับการคนแรก
ปัจจุบันมี พล.ต.ต.ศุภากรณ์ จันทาบุตร ผู้บังคับการปฏิบัติการพิเศษ โดย วิสัยทัศน์ มุ่งมั่นเป็นหน่วยงานปฏิบัติการพิเศษ ที่มีสมรรถนะสูง เพื่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและธำรงไว้ซึ่งสถาบัน
คลี่คลายคดีเด่น SSD
กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ มีภารกิจหลักในการถวายความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะ รวมไปถึงการรักษาความปลอดภัยในขณะที่เสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรักษาความปลอดภัย
รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่โดยรอบเขตพระราชฐาน รวมไปถึงการควบคุมฝูงชนและปราบปรามการก่อจลาจล การตรวจพิสูจน์และเก็บกู้วัตถุระเบิดที่อยู่โดยรอบเขตพระราชฐาน ปฏิบัติการด้านการข่าวต่อภัยคุกคามที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและองค์พระมหากษัตริย์ และงานจิตอาสาพระราชทานตามที่ได้รับมอบหมาย
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงหลักของตำรวจในการปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่นเดียวกับตำรวจทั่วไป โดยจะเน้นไปที่การต่อต้านการก่อการร้าย และการสนับสนุนการปฏิบัติการทางยุทธวิธีในการปราบปรามอาชญากรรมให้กับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยมีขอบเขตการปฏิบัติการทั่วราชอาณาจักร
ปฏิบัติการสำคัญ เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563
ไขปมพนันออนไลน์ POLICE CYBER
ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) POLICE CYBER TASKFORCE จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2563 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2563 ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรสืบสวนสอบสวน อาชญากรรมไซเบอร์ อย่างมืออาชีพ ที่ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา”
ตำรวจไซเบอร์ เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั่วราชอาณาจักร
มุ่งเน้นในการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ เป็นภัยคุกคามหลายรูปแบบที่เพิ่มขึ้นในโลกดิจิทัลปัจจุบัน การรวบรวมข้อมูล พิสูจน์หลักฐานดิจิทัล ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิด โดยบุคลากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีเครื่องมือพิเศษและเทคนิคเฉพาะทาง ในการสืบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
ปัจจุบันมี พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดชื่อ คกก.สอบปม "ค้นบ้านบิ๊กโจ๊ก" รายงานนายกฯ ใน 30 วัน
เปิดไทม์ไลน์ ค้นบ้าน "บิ๊กโจ๊ก" ปมโยงเว็บพนันออนไลน์