วันนี้ (27 ก.ย.2566) การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติขอความเห็นชอบกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (กรณียังไม่ก่อหนี้ผูกพัน) ของหน่วยงานรับงบประมาณและการพาณิชย์ของ กทม. ก่อนให้ความเป็นชอบ รายงานผลการพิจารณา และข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญฯ
โดยคณะกรรมการเห็นควรให้ความเห็นชอบกันเงินงบประมาณ รวม 64 หน่วยงาน 236 รายการ จำนวนเงิน 7,685,162,885 บาท เห็นชอบให้ปรับลดวงเงิน 4 หน่วยงาน 4 รายการ จำนวนเงิน 89,239,866 บาท เห็นชอบให้ถอนการกันเงิน 13 หน่วยงาน 67 รายการ จำนวนเงิน 1,158,939,456 บาท และเห็นควรไม่ให้ความเห็นชอบกันเงิน 3 หน่วยงาน 3 รายการ จำนวนเงิน 61,465,000 บาท
คณะกรรมการมีข้อสังเกตไปยังหน่วยงานหลายข้อ อาทิ เรื่องที่สก.ทุกเขตได้รับการร้องเรียน เกี่ยวกับการแก้ปัญหาลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเดิมสำนักอนามัยจะเป็นผู้จัดซื้อ แต่พบว่ามีความล่าช้าในการดำเนินการมาก และในปีที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกกว่า 6,000 - 7,000 คน กทม.อาจพิจารณามอบให้ฝ่ายพัฒนาชุมชนของเขตจัดซื้อเองเพื่อความสะดวกรวดเร็ว หรืออาจหานวัตกรรม สารเคมีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อลดจำนวนลูกน้ำยุงลายด้วย
นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สก.เขตคลองสาน สอบถามถึงความคุ้มค่าโครงการเช่ารถไฟฟ้าเก็บขนมูลฝอยกับการซื้อรถ ซึ่งเป็นรถสามล้อไฟฟ้าเพื่อเข้าไปช่วยชักลากขยะในชุมชนออกมายังถนนหลัก อำนวยความสะดวกให้กับรถขยะที่ไม่สามารถเข้าถึง
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รอง ผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงประเด็นนี้ว่า รถสามล้อไฟฟ้าเป็นรถที่ กทม. จัดเช่าเป็นครั้งแรก สำนักสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการเปรียบเทียบราคาเช่ากับราคาซื้อ หากพบว่าการซื้อถูกกว่าการเช่าจำเป็นต้องขอยกเลิกรายการนี้
นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สก.เขตยานนาวา ได้ร่วมอภิปรายและให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดซื้อรถไฟฟ้าของกทม.ซึ่งต้องคำนึงถึงข้อกำหนดของรัฐบาลที่จะให้ใช้รถยนต์มาตรฐาน Euro 5 เพื่อควบคุมมลพิษในปีหน้าด้วย รวมถึงในการกำหนดรายละเอียดการจัดซื้อต้องกำหนดค่าปรับให้สูงสุดเพื่อให้กรุงเทพมหานครและประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้กันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (กรณียังไม่ก่อหนี้ผูกพัน) ของหน่วยงานรับงบประมาณและการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ตามที่คณะกรรมการวิสามัญฯ เสนอ
อ่านข่าวอื่น ๆ