วันนี้ (28 ก.ย.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสเรียกร้องทั้งจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐและบรรดาธุรกิจห้างร้านขนาดเล็ก ขอให้ทางการอินโดนีเซียออกระเบียบคุมเข้มการขายสินค้าบนสื่อสังคมออนไลน์ หลังแย่งตลาดขายสินค้าหน้าร้าน จนทำให้รายได้หดหาย ซึ่งรัฐบาลออกมารับลูกในทันที
รัฐมนตรีกระทรวงการค้า ขึ้นเวทีประกาศอย่างเป็นทางการ หลังจากเริ่มบังคับใช้คำสั่งห้ามซื้อขายสินค้าบนสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น TikTok, Facebook หรือ Instagram ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ยกเว้นการโฆษณาส่งเสริมการขายสินค้า โดยจะให้เวลา 1 สัปดาห์ในการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับฉบับใหม่
นอกจากนี้ มีรายงานว่า ทางการยังกำหนดยอดสั่งซื้อสินค้าต่างประเทศต้องมีขั้นต่ำ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยถือเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อปกป้องธุรกิจขนาดเล็กในประเทศ ซึ่งบางเจ้าระบุว่า มียอดขายลดลงกว่าร้อยละ 80 หลังจากไม่สามารถลดราคาสู้กับสินค้าที่ขายบนสื่อออนไลน์ได้ ทั้งๆ ที่ผลิตสินค้าขายเอง
การซื้อ-ขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์
แม้จะมีช่องทางซื้อขายสินค้าบนสื่อออนไลน์หลายช่องทาง แต่ที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดและโดนผลกระทบจากคำสั่งนี้เต็มๆ คือ TikTok Shop ซึ่งแอปพลิเคชันนี้ใช้อินโดนีเซียเป็นโครงการนำร่องทดลองเปิดตัวขายสินค้าออนไลน์ ตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี
ก่อนที่ในปี 2023 จะขยายการให้บริการเข้าไปในฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงไทย ซึ่งทำให้ยอดขายสินค้าถีบตัวเพิ่มจาก 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดการณ์ว่าในปีนี้ ตัวเลขดังกล่าวอาจพุ่งสูงแตะ 15,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเติบโตของยอดผู้ใช้งาน TikTok ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีไม่ต่ำกว่าเดือนละ 325 ล้านคนและในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้ที่อยู่ในอินโดนีเซียกว่า 1 ใน 3
ด้วยตัวเลขของผู้ใช้งานที่สูง จึงไม่น่าแปลกที่ TikTok จะพยายามเข้ามาบุกตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา CEO ของ TikTok เดินทางมากรุงจาการ์ตาด้วยตัวเอง และประกาศเตรียมลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากเล็งเห็นถึงโอกาสในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกของ TikTok Shop
แต่คำสั่งล่าสุดของรัฐบาลอินโดนีเซียดับฝัน TikTok ซึ่งประเมินว่า คำสั่งนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในท้องถิ่นที่อาศัยช่องทางสื่อออนไลน์ในการหาลูกค้าและซื้อขายสินค้ากว่า 6 ล้านคน แต่ในด้านหนึ่ง ทางการยืนยันว่าคำสั่งนี้จะช่วยรับประกันความเท่าเทียมในการแข่งขันทางธุรกิจ หลังจากกลยุทธ์การค้าของสื่อสังคมออนไลน์ทำให้เกิดการผูกขาดและคุกคามธุรกิจท้องถิ่น
การซื้อขายสินค้าบนสื่อออนไลน์ หรือ Social Commerce เป็นหนึ่งในช่องทางซื้อของออนไลน์ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ปัจจุบันยังกินส่วนแบ่งเพียงเศษเสี้ยวของยอดขายสินค้าออนไลน์ทั้งหมดเท่านั้น โดยเมื่อปี 2022 ยอดขายสินค้าออนไลน์ในอาเซียนสูงกว่า 99,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้เกินครึ่งเป็นยอดใช้จ่ายของอินโดนีเซีย ทิ้งห่างไทยที่เป็นอันดับ 2 หลายเท่าตัว ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซียและสิงคโปร์
แต่ตัวเลขที่เห็นเป็นยอดขายสินค้าบน TikTok เพียงไม่กี่เปอร์เซนต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดเป็นยอดขายบนแพลตฟอร์ม E-Marketplace หรือตลาดนัดบนโลกออนไลน์ เช่น Shopee มียอดขายสูงที่สุด มูลค่ามากกว่า 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ Lazada อีกกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้าการประกาศคำสั่งของอินโดนีเซีย มีการประเมินว่ายอดขายสินค้าออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพุ่งสูงทะลุ 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2028
วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์
อ่านข่าวอื่นๆ
เกินคาด! เกาหลีเหนือยอมส่งทหารอเมริกันกลับประเทศ
ทะเลจีนใต้ระอุ "ฟิลิปปินส์" รื้อแนวกั้นลอยน้ำของจีนในพื้นที่พิพาท
ถูกฉาบด้วยสีดอกเลา "ญี่ปุ่น" ขึ้นแท่นแชมป์ผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก