ภาวะโลกร้อน หรือวิกฤตสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนบนโลกตระหนักรู้ แต่การเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบินนั้นปล่อยคาร์บอนที่เป็นมลพิษต่อโลกอย่างมหาศาล ยังไม่รวมเครื่องบิน Private Jet ที่เหล่าคนดังและผู้ทรงอิทธิพลชอบใช้งาน แนวคิดใหม่ของเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตจึงถือกำเนิดขึ้น เรือเหาะพลังงานไฮโดรเจนและพลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยให้การเดินทางเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
เรือเหาะรักษ์โลก หรือเครื่องบินรูปปลาวาฬ พัฒนาโดยวิศวกรในฝรั่งเศส เป็นเรือบอลลูนยาว 495 ฟุต หรือ 150 เมตร จะบินอยู่บนน่านฟ้า 25 ประเทศ เช่น ประเทศเม็กซิโก อินเดีย และสหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลา 20 วัน แบบไม่หยุดพัก คิดเป็นระยะทางกว่า 24,000 ไมล์ โดยการนำทางของนักบิน 3 คน ไปตามเส้นศูนย์สูตรจากตะวันตกไปตะวันออกที่ระดับความสูง 6,000 เมตร ในปี 2026
วัสดุของตัวเครื่องหรือเกราะเครื่องจะเสริมความแข็งแรงถึง 2 ชั้น เพื่อเสริมความเสถียรต่อแรงดันภายนอกขณะที่กำลังบินอยู่บนฟ้า และเพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในด้วยในคราวเดียวกัน กลไกการขับเคลื่อนของเรือเหาะลำนี้พึ่งพาพลังงานธรรมชาติ โดยจะใส่ฟิล์มแสงอาทิตย์ไว้ครึ่งบนของตัวเครื่อง สำหรับใช้ชาร์จแบตเตอรี่ให้เรือเหาะขับเคลื่อนได้ตลอด 20 วัน ส่วนพลังงานจากไฮโดรเจนจะเก็บไว้เพื่อช่วยขับเคลื่อนเครื่องยนต์ไฟฟ้าในตอนกลางคืน
เรือเหาะลำนี้จะเริ่มก่อสร้างในปี 2024 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2026 และจะเริ่มเปิดเส้นทางการเดินทางรอบโลกหลังจากการทดลองแล้วเสร็จในทันที ด้วยฝีมือการขับเครื่องบินของอดีตนักบินกระสวยอวกาศ และนักบินกองทัพอากาศฝรั่งเศส เพื่อพาผู้โดยสารทุกท่านเปิดประสบการณ์เดินทางรอบโลก
ที่มาข้อมูล: designboom, flyingmag, robbreport, dailymail
ที่มาภาพ: solarairshipone
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech