ภัยพิบัติทางธรรมชาติมักทำให้มนุษย์พบกับความยากลำบาก หากจะหาน้ำดื่มเพื่อประทังชีวิตก็เป็นเรื่องยาก เพราะน้ำดื่มที่เคยมีถูกพัดพาไปกับน้ำ หรือหากอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้ายเป็นเวลาหลายวันน้ำดื่มที่ตุนเอาไว้อาจหมดได้ อีกทั้งไฟฟ้าก็ยังถูกจำกัดทำให้ไม่สามารถทำการผลิตน้ำสะอาดสำหรับดื่มได้อีก นักวิจัยจึงหาทางออกให้ปัญหานี้ โดยใช้วิธีแยกเกลือออกจากน้ำด้วยเทคโนโลยีพลังงานต่ำ เพื่อช่วยในการผลิตน้ำดื่มในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
รีเวอร์สออสโมซิส (Reverse Osmosis) คือ วิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการแยกเกลือหรือโซเดียมคลอไรด์ออกจากน้ำทะเล โดยวิธีการนี้จะใช้เมมเบรนที่มีรูพรุน (Porous Membrane) เพื่อกรองเกลือและสิ่งสกปรกอื่น ๆ ออกจากน้ำ คงไว้เพียงน้ำจืดเท่านั้น ซึ่งวิธีการนี้มีประสิทธิภาพอย่างมากในการผลิตน้ำสะอาดจากน้ำทะเล ทั้งนี้รีเวอร์สออสโมซิสยังคงต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในการสร้างแรงดันน้ำที่จำเป็น และเมมเบรนมักอุดตันด้วยเกลือได้ง่าย
วิธีการใหม่ที่นักวิจัยจากสหราชอาณาจักรพัฒนาขึ้นไม่ได้ใช้แรงดันในการผลิต แต่จะใช้อิเล็กโทรดประจุบวกที่ปลายด้านหนึ่ง และประจุลบที่ปลายอีกด้าน โดยมีเมมเบรนอยู่ตรงกลาง เมื่อทำการกรองน้ำทะเล อิเล็กโทรดที่มีประจุลบจะดึงไอออนคลอไรด์ของเกลือที่มีประจุบวก และอิเล็กโทรดที่มีประจุบวกจะดึงไอออนคลอไรด์ที่มีประจุลบ
จากนั้นไอออนคลอไรด์จะถูกหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ และกระบวนการข้างต้นจะถูกทำซ้ำ โดยดึงโมเลกุลของน้ำออกมาทีละน้อย สุดท้ายแล้วน้ำส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ที่อิเล็กโทรดด้านที่เป็นประจุบวกซึ่งจะปราศจากเกลือ
นักวิจัยคาดว่าวิธีการนี้จะใช้ได้ดีในพื้นที่ขนาดเล็กที่ต้องการน้ำดื่ม แต่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตน้ำสะอาดสำหรับดื่มได้ เช่น ในพื้นที่ภัยพิบัติที่ไม่มีพลังงานไฟฟ้า
ที่มาข้อมูล: techexplorist, newatlas, bath
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech