มีข้อเสนอกรณีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่" ขณะที่ นายปดิพัทธ์ อ้างเหตุข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ พร้อมกับปฏิเสธข้อกล่าวหา "สมคบคิด"
"ปดิพัทธ์" ปัดสมคบคิดรักษาเก้าอี้รองประธานสภาฯ
หลังจากต้องมติพรรคก้าวไกล ขับพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ออกแถลงการณ์ส่วนตัว น้อมรับมติพรรค ก่อนจะชี้แจงเหตุที่ต้องทำหน้าที่รองประธานสภาฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนวาระตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน ยกระดับการทำงานของสภาให้โปร่งใส และย้ำว่าได้สอบถามความต้องการของประชาชนในพื้นที่แล้ว
การตัดสินใจในครั้งนี้ นายปดิพัทธ์ ยืนยันว่า ไม่ใช่การสมคบคิด เพื่อรักษาตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฏรไว้ แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญ จึงต้องตัดสินใจหาทางออกที่ดีที่สุด และยอมรับว่าได้มีการหารือเบื้องต้นกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งไทยสร้างไทย และเป็นธรรมแล้ว แต่ขอเวลาในการตัดสินใจอีกครั้ง
"วันนอร์" มั่นใจ ก้าวไกลขับปดิพัทธ์ ไร้ปัญหา
ขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปฏิเสธที่จะวิจารณ์มติพรรคก้าวไกล และการตัดสินใจของนายปดิพัทธ์ แต่ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร จะดำเนินการในการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านให้เร็วที่สุด ก่อนจะชี้ว่า การที่ฝ่ายค้าน ทำหน้าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่น่าจะเป็นปัญหา เนื่องจากแต่ละคนมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ และเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม
"อดิศร" ถาม "หมออ๋อง" ถูกไล่ออกจากพรรคให้เรียกว่าอะไร ?
แน่นอนว่า การตัดสินใจครั้งนี้ ย่อมต้องถูกวิจารณ์โดนเฉพาะจากซีกรัฐบาล และ สว. โดย นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล รีทวีตข้อความผ่าน X เป็นบทกลอน
กาเหว่า ฝากไข่ ให้กาฟัก ย่องเบา ซ่อนรัก สมัครสมานซมซาน กอดเก้าอี้ รองประธาน หมดศักดิ์ศรี ตำนาน ที่ไกลเกิน กาเหว่าฝากไข่ให้กาฟัก
ล่าสุดวันนี้ (30 ก.ย.2566) ช่วงเช้าที่ผ่านมา หัวหน้าวิปรัฐบาลยังได้ทวีตอีกหลายข้อความเชื่อมโยงหมออ๋อง อาทิ
ทุกขลาภมีไว้ยิ่งเป็นทุกข์ ไม่มีวันจะเป็นสุขขึ้นมาได้ ผู้ใดกอดทุกขลาภไว้ย่อมวางวาย ตายทั้งเป็นทุกขลาภซ้ำระกำเอย…#หมออ๋อง
ถูกไล่ออกจากก้าวไกล เงาหัวหายมองไม่เห็น เดินหน้ายิ่งลำเค็ญ ทุกขลาภปรากฏเป็น เห็นทันตา…ปล่อยวางเหอะ
ผมเลือกหมออ๋องเป็นรองประธาน มิใช่เลือกเป็นการส่วนตัว(เพราะผมไม่รู้จักมาก่อน) แต่เลือกเพราะพรรคก้าวไกลส่งมา เมื่อก้าวไกลขับออกจากสมาชิกพรรค(ร้ายแรงยิ่งกว่าถูกประหารชีวิตทางการเมือง)ยังจะดำรงตำแหน่งอีกหรือ..ประธานบนบัลลังก์ที่ถูกพรรคการเมืองไล่ออก สมควรเรียกขานนามว่าอย่างไร ???
สว. ชี้ช่องยื่นศาล รธน. - ก้าวไกลนิติกรรมอำพราง
ขณะที่ สว. เสรี สุวรรณภานนท์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ชี้ว่า มติขับพ้นพรรค ตามหลักการควรเป็นเรื่องความขัดแย้ง ที่สมาชิกไม่สามารถทำงานร่วมกับพรรคได้ เพื่อให้ไปหาพรรคใหม่สังกัดและยังคงทำหน้าที่ สส.ได้ต่อ
แต่การขับครั้งนี้ กลับเป็นการสมคบ ตกลงรู้เห็นร่วมกัน ไม่ได้ขัดแย้งกัน เพื่อหลบเลี่ยงหาทางออกไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งรองประธานสภาฯคนที่ 1 ซึ่งหากมีผู้ที่ยังติดใจยื่นตรวจสอบให้มีการวินิจฉัยในครั้งนี้หรือไม่ สส. 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนราษฎร สามารถหยิบยกให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งได้ ว่าการแสดงออกของพรรคก้าวไกล หรือการขับออกจากการเป็นสมาชิกชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือ บุคคลอื่นๆ ก็สามารถยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัยได้
ตกลงรู้เห็นร่วมกันหรือไม่ ในการไม่ให้อยู่กับพรรค จริงๆ ก็ดูได้ 2 นัย
ด้าน สว. วันชัย สอนศิริ ชี้ว่า พฤติกรรมที่ทำนี้ถือเป็นนิติกรรมอำพราง ด้วยเจตนาอยากได้ตำแหน่ง อยากได้อำนาจ และเห็นว่า เป็นมาตรฐานของพรรคการเมืองที่ไม่เหมาะสม แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ควรต้องดูถึงความถูกต้อง จริยธรรม คุณธรรม ความเหมาะสม และอาจถูกตั้งข้อสังเกตได้ว่า มาตรฐานจริยธรรมของก้าวไกล ไม่ได้แตกต่างไปจากพรรคการเมืองอื่น
ทั้งสังคม ทั้งพรรคการเมืองอื่นๆ ตำหนิ
ถึงเวลาอยากจะได้อำนาจ ทำอะไรก็ไม่ได้ต่างกับคนอื่น
อ่านข่าวเพิ่ม :
"หมออ๋อง" ขอนั่งรองประธานสภาฯ ต่อ ลั่นเป็นกลางน้อมรับมติพรรค
Feedback "หมออ๋อง" เกมขับพ้นพรรคคุมผู้นำฝ่ายค้าน-รองประธานสภาฯ