วันนี้ (6 ต.ค.2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ยโสธร และร้อยเอ็ด ในช่วงวันที่ 6-7 ต.ค.นี้ เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย บริเวณเชิงสะพานเสรีประชาธิปไตย ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี จากนั้น นายกรัฐมนตรี เดินทางไปสถานีตรวจวัดระดับน้ำ (M7) พบปะประชาชน และมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ก่อนจะไปติดตามสถานการณ์อุทกภัยและพบปะประชาชน อ.พิบูลมังสาหาร ณ แก่งสะพือ ต.พิบูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากนั้นวันที่ 7 ต.ค.นี้ นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการพบปะประชาชน และมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ บ้านทรายงาม ต.กุดกุง อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร จากนั้นในช่วงบ่าย เวลาประมาณ 14.00 น. นายกรัฐมนตรีจะตรวจเยี่ยมโครงการบำบัดผู้ติดยาเสพติด ณ สถานีตำรวจภูธรหัวโทน อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด แล้วเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ นายกฯ จะไปติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชี-มูล รวมทั้งติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับสถานการณ์น้ำของ จ.อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ขณะนี้ความจุแหล่งน้ำรวมของจังหวัด (ข้อมูล สทนช.3 ต.ค.) จ.อุบลราชธานี ความจุ 2,225 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำปัจจุบัน 1,971 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 89%จ.ยโสธร ความจุ 119 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำปัจจุบัน 77 ลบ.ม. คิดเป็น 65%และจ.ร้อยเอ็ด ความจุ 231 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำปัจจุบัน 85 ลบ.ม. คิดเป็น 37%
อ่านข่าว จิสด้า เปิดภาพ "น้ำท่วมสุโขทัย" 131,000 ไร่
เตรียมรับฝนระลอกใหม่ลุ่มน้ำชี-มูล
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า กล่าวว่า ภาพรวมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ 55,306 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 67% ปริมาณน้ำใช้การ 31,158 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 54%
ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวม 17 จังหวัด 397,497 ไร่ จ.ลำปาง สุโขทัย ตาก ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจ เจริญ อุบลราชธานี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี และจันทบุรี
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เร่งประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มเติม เนื่องจากมีการคาดการณ์ฝนตกหนักในช่วงวันที่ 6-7 ต.ค.นี้ เนื่องจากจะมีฝนตกต้นลุ่มน้ำชีและมูล ต้องบริหารจัดการน้ำ และหากสามารถหน่วงน้ำลงไปเพื่อรอรับน้ำก้อนใหม่
โดยกำชับให้หน่วยงานวางแผนระบายน้ำให้รัดกุม ไม่ซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมท้ายน้ำ รวมทั้งเตรียมกักเก็บน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนรับมือสถานการณ์เอลนีโญ และการวางแผนบริหารจัดการน้ำ 2 ปี
ในลุ่มน้ำชี และน้ำมูล จะมีแผนลดผลกระทบอย่างไร ในอนาคตจะต้องมีแหล่งเก็บน้ำเพิ่มเติม
อ่านข่าว ชี้ฝนถล่ม-ลำน้ำยมแคบ ปมน้ำท่วมสุโขทัย-ตัดยอดน้ำลุ่มเจ้าพระยา
ชาวนาในจ.ยโสธร เร่งมือเกี่ยวข้าวหลังน้ำท่วมสูง 1 เมตร
"ยโสธร" เกี่ยวข้าวหนีน้ำ
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ยโสธร ชาวนาบ้านทรายงาม ตำบลกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ต้องพากันเดินลุยน้ำเข้าไปเกี่ยวข้าวที่ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ร่วมลงแขกเกี่ยวข้าว ที่จมอยู่ในน้ำท่วม แม้ว่าเมล็ดข้าวยังไม่แก่เต็มที่
เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้นานหลายวันกว่านี้ ก็กังวลว่าผลผลิตข้าวจะได้รับความเสียหายทั้งหมด จึงได้ร่วมกันลงแขก เกี่ยวข้าว เพื่อนำไปตากแดด เก็บไว้กิน
เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำชีได้เอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวที่กำลังออกรวง เป็นบริเวณกว้างตามแนวลุ่มน้ำชี และนาข้าวจมน้ำนานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว จนเมล็ดข้าวเริ่มจะเน่าเสียหาย
ทำอาหารแจกจ่ายผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ส่วนกลุ่มอาสาสมัครป้องกันภัยชุมชนเกตุแก้ว เทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ช่วยกันปรุงอาหาร ข้าวกล่องจำนวน 200 ชุด เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่มาพักอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว ภายในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย และอยู่หลังสำนักงานที่ดิน อ.วารินชำราบ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงนี้