"ขาใหม่" ไม่ใช่ "ขาเทียม" เป็นนิยามที่ "คุณณี" สุพรณี กิตติรัตนา ผู้ประสบอุบัติเหตุทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง มอบให้กับอวัยวะใหม่ ที่ตอนนี้ยังต้องทำความคุ้นเคย
เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกหลังเหตุการณ์ คุณณี บอกว่า ชีวิตใหม่ของเธอ เกิดขึ้นหลังลืมตาจากห้องไอซียู แม้จะต้องเจอกับเรื่องที่หนักหนา แต่เธอยังมองโลกในแง่บวก เธอให้กำลังใจตัวเอง และยังบอกให้อีกหลายคนที่กำลังเจอกับความยากลำบาก ว่า โลกใบนี้ไม่ได้โหดร้ายมากขนาดนั้น
"สำหรับพี่คำว่า ตายแล้วเกิดใหม่ แยกเป็น 2 อย่าง วันที่เกิดเหตุเป็นเหตุการณ์สาหัสมาก เราต้องรับเลือดที่ รพ. และส่งต่อไปอีก รพ. ความตายอยู่ใกล้กว่า ตอนที่ลืมตาตื่นในห้องไอซียู ก็เหมือนมีชีวิตใหม่ ต้องใช้เวลาฝึกเยอะในการคุ้นเคยกับขาใหม่ คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย พี่ไม่ใช้คำว่าขาเทียม แต่บอกเพื่อนว่านี่คือขาใหม่ของฉัน"
3 เดือนที่รักษาตัวในโรงพยาบาล เธอบอกว่า ครอบครัว คือ แรงขับเคลื่อนสำคัญ แม้หลังจากนี้ต้องทบทวนคำพูดเพื่อไปบอกความจริงให้กับผู้เป็นพ่อและแม่ ที่รอเธออยู่ที่ต่างจังหวัด กับเหตุการณ์ทางเลื่อนเปลี่ยนชีวิต
"ตอนนี้ยังไม่ได้บอกคุณพ่อคุณแม่ว่าพี่ไม่มีขา เนื่องจากพ่อสูญเสียทางสายตา เขาต้องการกำลังใจจากลูกสาวคนเดียวที่พ่อแม่รอคอย แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องบอกท่านว่าพี่อยู่กับขาใหม่แล้ว คนที่อยากขอบคุณคือครอบครัว สามี ลูกทั้ง 3 คนที่เป็นแรงขับเคลื่อนเยอะมาก รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ นักกายภาพ นักกายอุปกรณ์ที่คอยดูแลให้กำลังใจ และจิตแพทย์ที่บอกว่าบางคนเจอเหตุการณ์แบบนี้สามารถทำให้ช็อกและเสียสติได้ ถ้าคนคนนั้นรับไม่ได้"
สิ่งที่ตอกย้ำ คือ ระยะเวลา 45 นาที กับชีวิตที่แขวนอยู่บนทางเลื่อน เธอมองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันถอดบทเรียนเรื่องนี้ หมั่นดูแลวัสดุอุปกรณ์ให้มั่นคงแข็งแรง และไม่ให้เกิดเหตุการณ์ฝันร้ายที่ซ้ำรอยกับคนอื่น ๆ เพราะสถานที่เกิดเหตุเป็นจุดที่หลายคนมองว่าปลอดภัยที่สุด
"สิ่งที่พีสู้มาได้ คือ ความมีสติ ความแข็งแกร่งของจิตใจ สามารถดูแลตัวเองให้สู้กับวิกฤตได้ วันที่เกิดเหตุเสียเลือดมาก ใช้เวลารอความช่วยเหลือนานเกือบ 45 นาทีกว่าจะดึงตัวพี่ออกมาได้ ความเจ็บปวดมีหมดทุกอย่าง แต่ใจพี่สู้"
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดผลการตรวจสอบทางเลื่อน พบว่า มาจากอุปกรณ์ชำรุด ตามอายุการใช้งาน และยังพบว่า สาเหตุอาจจะมาจากการตรวจสอบที่ไม่ครบถ้วนของวิศวกรที่ขาดคุณสมบัติ
ส่วนเงินเยียวยาเบื้องต้น อยู่ระหว่างพิจารณาและเสนอตัวเลขต่อผู้เสียหาย คาดว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันเร็ว ๆ นี้ สำหรับทางเลื่อนที่ชำรุด คาดว่า จะเปิดใช้งานได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ และมีแผนจะเปลี่ยนทางเลื่อนในท่าอากาศยานดอนเมืองทั้งหมดภายในปี 2567
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สรุปสาเหตุ "ทางเลื่อนดอนเมือง" วิศวกร-อุปกรณ์ไร้มาตรฐาน