วันนี้ (10 ต.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. เข้าจับกุมเจ้าหน้าที่เทศกิจ เขตดุสิต นายหนึ่ง หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนว่าใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เรียกรับเงินจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
พฤติการณ์คือ เจ้าหน้าที่ผู้ก่อเหตุได้นัดหมายนายสมพงษ์ผู้เสียหายให้เข้าไปพบที่สำนักงานเขตดุสิต ฝ่ายเทศกิจ เมื่อ 22 ก.ย. และ 6 ต.ค. เพื่อเจรจาจ่ายเงินค่าคุ้มครองแลกกับการไม่เข้าไปตรวจที่ไซด์งานโดยได้ข้อสรุปจ่ายเป็นรายปีระยะเวลารวม 12 เดือน เป็นเงิน 6,000 บาท
เป็นเหตุให้ผู้เสียหายเข้าร้องเรียนกับทาง ปปป. จนนำไปสู่การวางแผนเข้าจับกุมเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
พ.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ รักษาราชการแทน ผู้บังคับการ ปปป. เปิดเผยว่า ก่อนการเข้าจับกุมผู้เสียหายได้เข้าร้องทุกข์และปรึกษากับทาง ป.ป.ท. มาก่อนแล้ว พร้อมระบุคำร้องว่า มีเจ้าหน้าที่เทศกิจ จากสำนักงานเขตดุสิต เข้าตรวจงานก่อสร้างที่ไซต์งานตามปกติ แต่ว่ามีการอ้างกับผู้รับเหมาว่างานก่อสร้างทำผิด พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และจะต้องจ่ายค่าปรับเป็นรายวันจนกว่าจะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง จากนั้นนัดให้เข้าไปเจรจาที่สำนักงานเขต ก่อนจะพูดคุยในลักษณะข่มขืนใจ ให้ยินยอมจ่ายค่าคุ้มครองเป็นรายเดือน ส่วนการสอบปากคำเบื้องต้น ผู้ก่อเหตุยังอ้างว่า รับผลประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว
ในเบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯ ตามมาตรา 149 , เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดฯ ตามมาตรา 157 , เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ , เป็นเจ้าพนักงานของรัฐเรียกรับหรือยอมที่จะรับหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯ
ขณะเดียวกัน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการ ปปป. ระบุว่า ในภาพรวมทั่วประเทศกรณี เจ้าหน้าที่รัฐ เรียกรับสินบนในแต่ละปี มีมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้เป็นมูลค่าน้อยอย่างที่คิดและการเรียกรับเหล่านี้ เจ้าหน้าที่อาศัยช่องว่างและอำนาจที่ในการข่มขืนใจเรียกรับเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
ด้านนายภูมิวิศาล เกษมสุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผยว่า แม้จะเป็นเงินจำนวนเพียง 6,000 บาทแต่อยากให้มองที่เจตนาของการทุจริตในอำนาจหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินกี่บาทก็จะไม่ได้รับการละเว้น ปล่อยไปไม่ได้ เพราะอาจจะกลายเป็นเยี่ยงอย่างแก่ เจ้าหน้าที่คนอื่นได้
นางสาวชิยา ศิริรักษ์ ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 4 ให้ข้อมูลว่า นับจากเปิดศูนย์มาได้ประมาณ 7-8 เดือน พบว่า ประชาชนให้ความไว้วางใจและยื่นเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐ เรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบเข้ามาแล้ว 250 กรณี ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ มีบางเรื่องที่ตรวจสอบแล้วพบว่ามีมูลก็จะเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวน ส่วนเรื่องไหนที่ไม่มีมูลหรือเข้าข่ายร้องเรียนกลั่นแกล้ง จะถูกนำจากสารบบไป
แต่สำหรับกรณีที่ถูกจับดำเนินคดีในวันนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในสารบบที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา หากประชาชนพบเห็นการทุจริตในภาครัฐหรือถูกเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐสามารถร้องเรียนได้ทั้งกับหน่วยงานโดยตรง หรือ กับ ตำรวจ ปปป.
อ่านข่าวอื่นๆ :