เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงทั้ง 4 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนห้วยกระซู่ บ้านห้วยหินเพลิง ชุมชนสาริกา ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี และชุมชนป่าหมาก ต.ศาลาลัย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยมีนายติกร กิตตินันท์ หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับมอบหมายมารับหนังสือ
วันเดียวกันพวกเขาได้เข้ายื่นหนังสือ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้ตรวจราชการกรม และนายอิทธิพล ไทยกมล อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นตัวแทนมารับหนังสือ
สาระสำคัญที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ร้องขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ “พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ” ที่ออกโดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เพื่อขอให้แก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนกะเหรี่ยงโดยตรง
ตัวแทนชุมชนชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ระบุว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีเงื่อนไขที่จะส่งผลไปถึงการทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงอย่างรุนแรง ตั้งแต่การกำหนดให้ชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมต้องลงชื่อยอมรับว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบแปลงเดี่ยว
ต้องยอมรับรูปแบบการทำเกษตรที่ต้องถางที่ดินให้โล่งเตียนต่อเนื่องทุกปี ซึ่งทั้ง 2 เงื่อนไขนี้ เป็นการบีบบังคับให้ชาวกะเหรี่ยงต้องเลิกวิถีการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนไปเลย เพราะไม่สามารถทำได้ และยังจะส่งผลระยะยาวต่อการสืบต่อภูมิปัญญาและจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงที่ทำการเกษตรสอดคล้องกับการดำรงอยู่ของผืนป่ามาโดยตลอด
อ่านข่าว : EP.3 The Last Karen สิทธิชอบธรรมของผู้ดูแลป่า
ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาเคยเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มเติมนิยามความหมายของการจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมของชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมว่า ให้ถือเอาวิถีการใช้ประโยชน์ด้วยการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนเป็นการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ ตามความในมาตรา 64 และ 65 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562
และให้บัญญัติรับรองการทำไร่หมุนเวียนในลักษณะแปลงรวมของชุมชนของชนเผ่ากะเหรี่ยงที่มีระบบการบริหารจัดการที่แน่นอน และได้มีกระบวนการหารือร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติในท้องที่แต่ละแห่งกับชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมแต่ละพื้นที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ
และเป็นส่วนหนึ่งของร่างระเบียบของกรมอุทยานฯ ว่าด้วยการอยู่อาศัย และทำกินภายในอุทยานแห่งชาติเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระเพื่อจัดทำแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎาซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองต่อไป แต่กลับไม่เคยได้รับการพิจารณา
นอกจากนี้ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงยังได้ อ้างอิงข้อมูลงานทางวิชาการที่ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการทำเกษตรในรูปแบบ “ไร่หมุนเวียน” ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก รวมทั้งผลการศึกษาที่ชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ซึ่งทำวิจัยร่วมกับนักวิชาการ
พบว่า วิถีการทำกินแบบไร่หมุนเวียนช่วยให้พื้นดินเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ทั้งทางปริมาณและคุณภาพ สามารถเพิ่มการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าผืนป่าตามปกติ มีส่วนอย่างมากในการลดปัญหาโลกร้อนและเสริมคุณค่าทางสังคมให้แก่การดูแลผืนป่าของอุทยานแห่งชาติ
สำหรับข้อเรียกร้องต่อกระทรวงฯ และกรมอุทยานฯ คือขอให้ทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกาและระเบียบเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติทุกฉบับ ทุกพื้นที่ ที่ยังมิได้มีการประกาศใช้ เพื่อปรับปรุงเพิ่มเติมเพิ่มการรับรองวิถีการทำกินและใช้ประโยชน์ที่ชุมชนทั้งหลายในอุทยานแห่งชาติ แต่ละแห่ง ได้เคยมีหรือยึดถือปฏิบัติกันมาก่อนรับรองไว้เป็นวิถีการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระเป็นบทบัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา เพิ่มเติมบทบัญญัติที่ให้มีคณะกรรมการ
หรือคณะทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานอุทยานแห่งชาติร่วมกับตัวแทนของชุมชนที่ได้มาจากการหารือ คัดเลือก คัดสรร ของชุมชนกันเองอย่างเป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่ร่วมกันกำหนดกฎกติกาในการใช้สอย ดูแล ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนทำหน้าที่เบื้องต้นในการเจรจาแก้ไขข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายอุทยานกับสมาชิกของชุมชน
ให้กำหนดรับรองวิถีการทำกินแบบไร่หมุนเวียนของชนเผ่ากะเหรี่ยงและการกำหนดพื้นที่แปลงรวมเพื่อไร่หมุนเวียนรับรองไว้ในพระราชกฤษฎีกาให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยงในแต่ละพื้นที่ โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติในร่างพระราชกฤษฎีกาและระเบียบกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชสำหรับพื้นที่ที่มีชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงอยู่อาศัยมาก่อนจะต้องมีตัวแทนของชุมชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติในแต่ละแห่ง
โดยขอให้มีคำสั่งแจ้งไปยังหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุกแห่งในผืนป่าแก่งกระจานให้จัดการเดินสำรวจเก็บข้อมูลรวบรวมจำนวนสมาชิกชุมชน พื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชนและวิถีการทำประโยชน์ของอุทยานแห่งชาติในเขตผืนป่าแก่งกระจานทุกแห่ง เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่แต่เดิมตั้งแต่คราว 240 วัน
และขอให้จัดการรังวัดสำรวจแนวเขตพื้นที่ที่ชุมชนประสงค์จะทำเป็นแปลงรวมไร่หมุนเวียนของชุมชน พื้นที่ป่าใช้สอยร่วมกันของชุมชน และพื้นที่ป่าพิธีกรรมของชุมชน โดยการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยาน และตัวแทนของชุมชนให้แล้วเสร็จแล้วนำมาประกอบการพิจารณากำหนดเงื่อนไขและวิธีการที่จะบัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาและระเบียบของอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย