แม้จะได้รับคำยืนยันถึงเงื่อนไขด้านคำขออนุญาตหรือ Permit ในการบินผ่านน่านฟ้าแต่ละประเทศจากโฆษกกระทรวงการต่างประเทศว่า
บางประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล
ก็ไม่สามารถบินผ่านน่านฟ้าของประเทศตะวันออกกลางนั้นๆ ไปยังอิสราเอลได้
แต่พบว่ายังมีปัจจัยอีกหลายด้านที่เป็น "คอขวด" สำหรับปฏิบัติการอพยพคนไทยเรือนหมื่นกลับบ้านจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส
อ่าน : "พันธมิตรผู้นำอิสราเอล" ชี้รัฐล้มเหลวปกป้องประชาชน
น่านฟ้า-เส้นทางการบิน
เส้นทางการบินกว่า 12 ชั่วโมงที่กองทัพอากาศไทย โดยเครื่องบิน A340-500 ใช้เดินทางไปรับ-พากลับ 130 แรงงานไทยสู่มาตุภูมิในวันนี้ (16 ต.ค.2566) หลายคนมองว่าเป็นเส้นทางอ้อมโลกที่ต้องเชิดหัวเครื่อง บินขึ้นไปทางเหนือ ผ่าน ลาว จีน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน อาเซอร์ไบจาน อาร์มิเนีย ตุรกี ไซปรัส และ ปลายทางลงจอดที่ สนามบิน เบนกูเรียน กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล
ทั้งๆ ที่หากใช้เส้นทางตามปกติ ทำการบินเพียง 8-8 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ด้วยเส้นทาง ไทย อินเดีย โอมาน ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน และอิสราเอล
การขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้า (Permit) ของแต่ละประเทศที่ไทยไม่ได้มีเส้นทางบินประจำนั้น เป็นเหมือนเรื่องใหม่ที่ต้องนับ 1 2 3 ในเวลาปกติอาจต้องใช้ระยะเวลานานเป็นเดือนกว่าประเทศนั้นๆ จะอนุญาตให้บินผ่านได้ แม้ครั้งนี้ด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินที่ทั่วโลกต่างรับรู้ จึงอนุโลมผ่อนปรนลดการพิจารณาให้น้อยลงที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ฉันใดก็ฉันนั้น "บางประเทศ" ในกลุ่มอาหรับลีค ก็ใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นข้อพิจารณาให้หลีกเลี่ยงการใช้น่านฟ้าเช่นกัน
จะเครื่องแอร์ไลน์ หรือ เครื่องทหาร ก็ขอ Permit ยาก แล้วแต่ประเทศเขาจะพิจารณาให้
บางกรณีที่เร่งรีบจริงๆ เครื่องขึ้นไปแล้ว Permit เพิ่งได้บนฟ้าก็ยังมี
อ่าน : เครื่องบิน ทอ. อพยพ 130 คนไทยจากอิสราเอล ถึงไทยแล้ว
อาหรับลีคอาจไม่หลีกให้
ในโลกตะวันออกกลาง มีการรวมตัวกันของ 22 ประเทศ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมาชิกให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และประสานนโยบายของรัฐสมาชิกเพื่อให้บรรลุความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนพิทักษ์เอกราชและอธิปไตย รวมทั้งพิจารณาประเด็นปัญหาที่เป็นข้อห่วงกังวลซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์รัฐสมาชิก ในนาม "สันนิบาตรัฐอาหรับ (League of Arab States)" หรือเรียกสั้นๆ "อาหรับลีค (Arab League)"
สมาชิกสันนิบาตรัฐอาหรับ (League of Arab States)
ไทยไม่ได้มีข้อบาดหมาง หรือ ข้อขัดแย้งใดๆ กับประเทศในกลุ่มอาหรับลีค แต่เมื่อค้นข้อมูลเชิงลึกพบว่า รากเหง้าความขัดแย้งระหว่าง อาหรับ–อิสราเอล มีสาเหตุมาจากการสนับสนุนของประเทศสมาชิกในอาหรับลีคที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ ที่มีปมขัดแย้งระหว่าง อิสราเอล–ฮามาส ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้
การเลี่ยงเส้นทางบินที่ต้องผ่านน่านฟ้าของสมาชิกประเทศอาหรับลีค จึงอาจเป็นวิธีที่ลดความเสี่ยงและปลอดภัยในการบินของไทย รวมถึงบ่งบอกความเป็นกลางในการปะทะกันครั้งนี้
อ่าน : หนุนปาเลสไตน์! ทั่วโลกเรียกร้องยุติสงคราม-ประณามอิสราเอล
เครื่องบิน นักบิน และกฎการบิน
เมื่อขีดเส้นบนแผนที่เส้นทางการบินได้แล้ว การจัดหาเครื่องและคนก็ตามมา เครื่องบิน A340-500 เป็นตัวเลือกแรกที่ใช้ในภารกิจต่างๆ เสมอ ตั้งแต่การส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกี การรับคนไทยจากซูดาน และครั้งนี้อีกเช่นกัน แต่ด้วยจำนวนผู้ขออพยพกลับที่มีมากถึง 7,000 กว่าคน การจะใช้เครื่องบินที่รองรับคนได้ไม่ถึง 200 คนต่อเที่ยว บินไปรับคนจำนวนมาก จึงแทบไม่มีความเป็นไปได้เลย
คำว่าดำเนินการช้าจึงตามมา และต่อด้วยคำถามที่ว่า นักบิน ทอ.ไม่พอ หรืออย่างไร ?
แม้นายกฯ เศรษฐาจะออกมาแถลงความคืบหน้าว่าได้พูดคุยกับสายการบินพาณิชย์ในไทยและของอินเดียไว้แล้ว แต่เมื่อพิจารณาถึงขีดความสามารถของเครื่องบิน B737-800 ของนกแอร์ และ A320-200 ของ ไทย แอร์ เอเชีย ที่ต้องบินบนเส้นทาง 12 ชั่วโมง
ก็คงต้องแวะเติมน้ำมันอย่างน้อย 3 ที่ และก็ต้องขอ Permit ที่จะลงจอดอีกหลายประเทศอีก
มันดูเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าต้องบินไปถึงอิสราเอล
มุมมองจากอดีตนักบินตองเจ็ด ตั้งข้อสังเกตไว้ มากไปกว่านั้นการถือใบอนุญาตนักบินหรือ Licence นักบิน ในปัจจุบันนั้นไม่มีนักบินคนไหนที่สามารถถือใบอนุญาตขับเครื่องบินได้มากกว่า 1 ไทป์ แปลไทยเป็นไทยก็คือ ถ้าคุณเป็นนักบินโบอิ้ง 737-800 คุณก็จะขับได้แค่เครื่องบินรุ่นนั้นเท่านั้น ต่อให้ขีดข้างหลังจะเปลี่ยนเป็น 737-900 หรือ 737 MAX 9 คุณก็ขับไม่ได้ เช่นเดียวกัน แม้จะมีนักบินกองทัพไปบินให้สายการบินพาณิชย์ แต่ก็ใช่ว่าจะเรียกเขากลับมาบิน A340 ให้ได้ทันที ก็ทำไม่ได้
อยากขับ ก็ต้องไปเรียนใหม่ ขนาดขับรถญี่ปุ่นกับรถยุโรป กดไฟเลี้ยวที่ปัดน้ำฝนยังปัดแทนเลย เครื่องบินก็ต้องใช้เวลามากกว่านั้น
สอดคล้องกับความเห็นของอดีตนักบิน C-130 กองทัพอากาศไทย ต่อเรื่องชั่วโมงทำงานของนักบิน ลูกเรือ ช่างซ่อมเครื่องบิน บินไปกี่ชั่วโมง พอเสร็จภารกิจก็ต้องลงมาพักอีกกี่ชั่วโมง ก็มีกฎการบินที่เรียก Flight Duty Period (FDP) กำหนดไว้ชัดเจน นอกจากนั้นการบินยาว 12 ชั่วโมงและเป็นเส้นทางที่ไม่ได้ทำการบินเป็นประจำ ความชำนาญในเส้นทางย่อมมีน้อย ดังนั้นภารกิจนี้ไม่ได้ใช้ทีมนักบินเพียงแค่ชุดเดียวอย่างแน่นอน
ผู้ร่วมภารกิจพาแรงงานไทยกลับบ้านบนเครื่องบิน A340-500
น่าจะต้องนำนักบินที่เคยมีประสบการณ์การบินผ่านเส้นทาง 12 ชั่วโมงนี้ไปบนเครื่องด้วย เพื่อคอยแนะนำนักบินกองทัพ ต้องทำความเข้าใจว่า นักบินก็ไม่ได้ชำนาญทุกเส้นทาง การได้ผู้ที่มีประสบการณ์มาช่วย ย่อมเป็นเรื่องดี แต่เมื่อทุกคนบินลงมา ผ่าน Time Zone หลายประเทศ อาการ Jet lag ก็ตามมา ยังไงก็ต้องให้เวลาพวกเขาพัก 1-2 วัน ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีคนไปบินได้
เท่าที่รู้ใช้นักบิน 12 คน ลูกเรือ 24 คน ในภารกิจบินไปและกลับ 1 ครั้ง จะมีขั้นตอนอยู่ เช่น นักบิน 2 คน ถ้าบินตอนเช้าจะบินได้ไม่เกิน 10 ชั่วโมง แต่ถ้าเส้นทางที่ต้องบินเกิน 12 ชั่วโมงก็ต้องเพิ่มนักบินเข้าไป
ผู้ร่วมภารกิจพาแรงงานไทยกลับบ้านบนเครื่องบิน A340-500
เครื่องบินเล็กช่วยรับช่วงต่อ
อดีตนักบินกองทัพอากาศไทย มองความเป็นไปได้ที่ช่วยลดระยะเวลาการรอคอยของแรงงานไทย บวกกับเงื่อนไขเครื่องในประเทศที่บินได้ในระยะทางสั้น ในสถานการณ์เช่นนี้มองได้ว่า เครื่องของนกแอร์ และ ไทย แอร์ เอเชีย คงไม่สามารถเข้าไปถึงอิสราเอลได้อย่างแน่นอน แต่อาจต้องช่วยภารกิจรับไม้ต่อจากพื้นที่อื่นที่มีเส้นทางการบินที่ได้ขออนุญาตไว้แล้ว เช่น อินเดียหรือจีน ที่ทั้งสายการบินหางแดงและเหลือง ต่างมีเส้นทางบินเป็นประจำอยู่แล้ว
เครื่องเล็ก คงไม่เข้าพื้นที่ แต่คงใช้แผนต่อระยะ ช่วยซัพพอร์ตทางกองทัพอากาศและการบินไทย
อีกทางคือ รัฐบาลไทยต้องยอมเช่าเหมาลำสายการบินอื่น เพื่อเร่งอพยพคนไทยให้ไวที่สุด
นอกจากจะช่วยสนับสนุนภารกิจนี้แล้ว สายการบินพาณิชย์อาจต้องเข้าช่วยรับภารกิจอื่นของการบินไทยแทน เช่น การส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาหางโจว เอเชียนพาราเกมส์ ที่จะจัดระหว่างวันที่ 22-28 ต.ค. ซึ่งอยู่ในช่วงที่นายกฯ กำหนดว่าต้องรับแรงงานไทยกลับมาให้ได้มากที่สุดก่อนสิ้นเดือน ต.ค.
แต่ที่น่ากังวลและเป็นห่วงมากที่สุดคือ ความปลอดภัยของคนไทยในอิสราเอลที่ต้องเดินทางไปยังสนามบินในกรุงเทลอาวีฟให้ทัน เมื่อเครื่องมาถึง
อ่าน : นายกฯเตรียมถกจีนช่วยอพยพคนไทยในอิสราเอล