ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประวัติ ความสำคัญ วันออกพรรษา และกิจกรรมชาวพุทธ

ไลฟ์สไตล์
20 ต.ค. 66
16:31
60,759
Logo Thai PBS
ประวัติ ความสำคัญ วันออกพรรษา และกิจกรรมชาวพุทธ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เปิดประวัติความสำคัญ และประเพณีที่นิยมปฏิบัติ รวมถึงกิจกรรมของพุทธศาสนิกชน

วันออกพรรษา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธแบบไทย-ลาว "วันออกพรรษา" มีสาเหตุเนื่องมาจาก "วันเข้าพรรษา" ที่มีมาแล้วเมื่อวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 อันเป็นวันที่พระภิกษุทั้งหลายอธิษฐานใจเข้าอยู่พรรษาครบไตรมาส คือ 3 เดือน ตามพระพุทธบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรมค้างคืนนอกสถานที่ที่ท่านตั้งใจอยู่ไว้ เมื่อมีวันเข้าพรรษาก็จำเป็นต้องมีวันออกพรรษา

อ่านข่าว : วันเข้าพรรษา 2566 ประวัติและความสำคัญ

วันออกพรรษา เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 สำหรับวันออกพรรษา ปี 2566 จะตรงกับวันที่ 29 ตุลาคม

ความสำคัญของวันออกพรรษา

วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน (นับตั้งแต่วันเข้าพรรษา) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันมหาปวารณา" คำว่า "ปวารณา" แปลว่า อนุญาต หรือ ยอมให้

ในวันออกพรรษานี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรม เรียกว่า มหาปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วย

เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบไตรมาสได้ปวารณาออกพรรษาและได้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ หรือข้อยกเว้นพระวินัย 5 ข้อ คือ

  • เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา (ออกจากวัดไปโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์รูปอื่นก่อนได้)
  • เที่ยวไปไม่ต้องถือไตรจีวรครบสำรับ 3 ผืน
  • ฉันคณโภชน์ได้ (โภชนะที่คณะรับนิมนต์ไว้)
  • เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ยกเว้นสิกขาบทข้อนิสสัคคิยปาจิตตีย์บางข้อ)
  • จีวรลาภอันเกิดในที่นั้นเป็นของภิกษุ (เมื่อมีผู้มาถวายจีวรเกินกว่าไตรครองสามารถเก็บไว้ได้โดยไม่ต้องสละเข้ากองกลาง)

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษาที่นิยมปฏิบัติ คือ

ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ

เป็นประเพณีที่นิยมกระทำกันมานานแล้วในวันออกพรรษา ซึ่งเรียกว่า "ตักบาตรเทโว" หรือเรียกชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหณะ" แปลว่าการหยั่งลงจากเทวโลก หรือการตักบาตรนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" และการตักบาตรเทโวนี้ จะกระทำในวันขึ้น 15 เดือน 11 หรือวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ก็ได้

เชื่อว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกหลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่ในดาวดึงส์ถ้วนไตรมาส และแสดงอภิธรรมเทศนาโปรดพระมารดาในเทวโลกนั้นมาตลอดเวลา 3 เดือน เมื่อถึงวันมหาปวารณา คือวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา จึงเสด็จมายังโลกมนุษย์โดยเสด็จมาทางบันไดสวรรค์ลงที่ประตูเมืองสังกัสสะ อันตั้งอยู่เหนือกรุงสาวัตถี วันที่เสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า “วันเทโวโรหณะ” ตรงกับวันมหาปวารณาเพ็ญเดือน 11 วันนั้นถือกันว่าเป็นวันบุญกุศล ที่สำคัญวันหนึ่งของพุทธบริษัท โบราณเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ”วันพระเจ้าเปิดโลก”

วันรุ่งขึ้นจากวันนั้นเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จึงมีการทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ กันเป็นการใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองการเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้าโดยพุทธบริษัทได้พร้อมใจกันใส่บาตรแด่พระสงฆ์ที่อยู่ทั้งหมดในที่นั้นกับทั้งพระพุทธองค์ด้วยโดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อนภัตตาหารที่ถวายในวันนั้นส่วนใหญ่เป็นเสบียงกรัง ของตนตามมีตามได้

ปรากฏได้มีการใส่บาตรในวันนั้นแออัดมาก ผู้คนเข้าไม่ถึงพระสงฆ์จึงเอาข้าวสาลีของตนห่อบ้าง ทำเป็นปั้นๆ บ้างแล้วโยนเข้าถวายพระ นี่เองจึงเป็นเหตุหนึ่งที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยน เป็นส่วนสำคัญของการตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นประเพณีว่าถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 (บางแห่งก็ทำในขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ทุกๆ ปี ควรทำบุญตักบาตรให้เหมือนครั้งดั้งเดิมเรียกว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ จนทุกวันนี้

ในจังหวัดสมุทรปราการจะมีประเพณีรับบัวหรือโยนบัว ซึ่งจัดในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11

ประเพณีชักพระ

ทางภาคใต้จะมีประเพณีชักพระ หรือแห่พระ หรือลากพระ จะมีชักพระทางบก และชักพระทางน้ำ โดยจะมีการนำพระพุทธรูปขึ้นเรือแห่ไปตามลำน้ำให้ผู้คนทำบุญ โดยจะเรียกเรือที่ชักพระว่าเรือพนม บางท้องที่จะมีประเพณีโยนดอกบัวถวายเป็นพุทธบูชาด้วย โดยประเพณีชักพระในปัจจุบันมีทั้งบนบกและในน้ำ เรียกว่าเรือพนมทางบกและเรือพนมทางน้ำ (เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนนิยมเดินทางทางบก แทนเดินทางทางน้ำอย่างในอดีตที่บ้านเรือนผู้คนอยู่จะตามริมน้ำ จึงเกิดการชักพระทางบกขึ้น) ซึ่งปกติจัดในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11

ประเพณีจุดประทีปคืนวันออกพรรษา

เป็นประเพณีที่จุดเทียนหรือไต้น้ำมัน โดยจะจุดในคืนวันออกพรรษา เป็นรูปต่างๆ ที่มองจากบนฟ้าจะเห็นเป็นรูปหรือข้อความต่างๆ ซึ่งจะเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น ธรรมจักร ดอกบัว ใบโพธิ์ เป็นต้น

เชื่อกันว่าเป็นการจุดไฟถวายเพื่อให้พระพุทธเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นจากสวรรค์ โดยจำลองเหตุการณ์เหมือนเมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากทรงโปรดพุทธมารดา โดยที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาในวันออกพรรษา และจะเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ถึงในเวลาเช้าโดยมีประชาชนมารับเสด็จต่างพากันมาใส่บาตรพระพุทธเจ้า ดังนั้นจึงถือกันว่าในช่วงเวลากลางคืนพระองค์จะยังทรงเสด็จอยู่ระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์ จึงต่างพากันจุดประทีปเพื่อรับเสด็จ

โดยประเพณีชาวไทใหญ่ที่แม่ฮ่องสอน จะมีการจัดขบวนแห่เทียนหลู่เตียนเหง(เทียนพันเล่ม) ประเพณีแห่จองพารา (ปราสาทพระพุทธเจ้า) เพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้า โดยชาวไทใหญ่จะเรียกประเพณีนี้ว่า ปอยออกหว่า หรือ ปอยเหลินสิบเอ็ด วัดพระธาตุดอยเว้า อ.แม่สาย จ.เชียงราย จะมีประเพณีปอยต้นแป๊ก (ต้นเกี้ยะ)

ส่วนทางภาคอีสาน จะมีประเพณีจุดไต้น้ำมัน เป็นเวลา 3 วัน ในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 เรียกว่าการไต้น้ำมันน้อย ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เรียกว่าการไต้น้ำมันใหญ่ ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เรียกว่าการไต้น้ำมันล้างหางประทีป

ประเพณีจุดไฟตูมกา ใน จ.ยโสธร, ประเพณีจุดประทีปตีนกาจังหวัดกาญจนบุรี, และหลายพื้นที่ที่ติดแม่น้ำ เช่น จ.หนองคายและนครพนม ก็จะมีประเพณีไหลเรือไฟและลอยกระทงสายหรือที่เรียกอีกอย่างว่าไข่พญานาคในคืนวันออกพรรษา

ประเพณีเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก

การเทศน์มหาชาติ คือ เทศนาเวสสันดรชาดก เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ ส่วนมากจัดให้มีในวัดเป็นหน้าที่ของชาวบ้านและวัดนั้น ๆ จะตกลงร่วมกันจัด ปกตินิยมให้มีหลังฤดูทอดกฐิน ผ่านไปแล้วจนตลอดฤดูหนาว นิยมจัดเป็นงานสองวัน คือ วันเทศน์เวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์วันหนึ่ง และวันเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายเวสสันดรชาดกอีกวันหนึ่ง

วันแรกเริ่มงานด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระทั้งวัด หรือเลี้ยงพระตามจำนวนที่เห็นสมควร แล้วเริ่มเทศน์เวสสันดรชาดก ตามแบบเทศน์ต่อกันไปจนสุด 13 กัณฑ์ ถึงเวลากลางคืนบางแห่งจัดปีพาทย์ประโคมระหว่างกัณฑ์หนึ่ง ๆ ตลอดทั้ง 13 กัณฑ์ด้วย

ประเพณีถวายผ้ากฐินทาน

เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 - วันลอยกระทง) คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว

เช่น ตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)

ประเพณีตักบาตรพระร้อย

ประเพณีตักบาตรพระร้อย หรือ ใส่บาตรพระร้อยรูป เป็นบุญประเพณีของชาวประเพณีโดยเฉพาะ ส่วนมากจัดพิธีขึ้นทางน้ำเนื่องด้วยแต่เดิมบ้านอยู่ติดริมน้ำลำคลอง จึงใช้เรือสัญจร พระส่วนมากจึงใช้เรือบิณฑบาต

เนื่องมาแต่ความเชื่อเดิมว่าหลังวันเสด็จลงจากเทวโลก คือวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 หรือวันตักบาตรเทโว พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงนำพระภิกษุสงฆ์จำนวนเป็นร้อยออกบิณฑบาต ชาวประชาจึงหลั่งไหลมาถวายสักการะต้อนรับด้วยดอกไม้และบิณฑบาตทาน จึงมีพิธีตักบาตรเทโวขึ้น แต่ชาวปทุมธานีนิยมกำหนดเอาพระบิณฑบาตจำนวนร้อยรูป จึงเรียกว่า ตักบาตรพระร้อยสืบมา

ข้อควรปฏิบัติในวันออกพรรษา

1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
2. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ร่วมกุศลธรรม "ตักบาตรเทโว"
4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและ ประดับธงชาติและธงธรรมจักรตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษาฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป

ที่มา : wikipedia สำนักงานพระพุทธศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดน่าน

อ่านข่าวอื่นๆ :

ความเชื่อ ศรัทธา "พญานาค" จากกาลสู่ปัจจุบัน

วันหยุดพฤศจิกายน 2566 : ไร้วันหยุดแต่ยังสนุกกับลอยกระทง

วันหยุดธันวาคม 2566 : ลาให้ถูกได้วันหยุดเพิ่ม ส่งท้ายปีกระต่ายต้อนรับปีมะโรง

ครม.เคาะ "วันหยุดปีใหม่ 4 วัน" 29 ธ.ค.66-1 ม.ค.67

ข่าวที่เกี่ยวข้อง