ท่านผู้โดยสาร เราได้นำท่านมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ โดยสวัสดิภาพแล้ว
04.35 น. ของวันที่ 18 ต.ค.2566 เที่ยวบิน TG 8951 โดย กัปตันชิงชีพ บุรีรักษ์ นักบินผู้ควบคุมอากาศยาน B777-200ER นำทีมนักบิน ลูกเรือ และเจ้าหน้าที่ภาคพื้นรวม 30 คน และอีก 266 แรงงานไทยกลับสู่ประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ รวมระยะเวลาทั้งหมดในภารกิจเที่ยวบินแรกของการบินไทย 30 ชั่วโมง
ที่มา : Thai Corporate Communications
D1 กัปตันชิงชีพ เล่าถึงแผนปฏิบัติการบินภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติว่า หลังจากที่เกิดเหตุปะทะกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส เขาและทีมนักบินเริ่มวางแผนการบินเพื่อรอรับคนไทยกลับบ้านทันที และมีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับรัฐบาลและกองทัพอากาศ ประสานงานร่วมกันทำแผนการบิน ทำเรื่องขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าแต่ละประเทศ
เส้นทางที่ปลอดภัยในการบิน และระยะเวลาขอใบอนุญาตผ่านน่านฟ้า หรือ Permit ที่สั้นที่สุด เราได้เป็นเส้นทางที่บินขึ้นจีน โค้งไปทางตุรกี และเข้าไปที่อิสราเอล เมื่อการบินไทยเสนอแผนนี้ไป ทางรัฐบาล กองทัพอากาศ เห็นด้วย ปฏิบัติการนี้จึงเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีคำสั่งจากรัฐบาล
การบินไทยกับกองทัพอากาศไทย ก็เสมือนพี่น้องกัน ช่วยกันคิดแผนการบิน คำนวณเวลาบิน คำนวณน้ำมัน เครื่องบิน ทอ. บินกลับมาแล้วเกิดปัญหาตรงไหน ทางการบินไทยก็นำมาศึกษาและหาทางอุดรอยรั่ว เมื่อต้องบินจริง ก็บินด้วยความมั่นใจมากขึ้น
Key Point "เวลา"
ปฏิบัติการนี้เรียก Flight irregularity คือไฟลท์ที่บินแบบไม่ปกติ ปฏิบัติภารกิจเพื่ออพยพคนไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด ทุกแผนการบินที่ทำ ถ้ามีคำว่า "เอ๊ะ" ขึ้นมา หมายถึงเราต้องหาคำตอบและแนวทางแก้ไขในทุกแผน เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการบิน
ต้องทำแผนด้วยความปราณีตและแม่นยำ โดยเฉพาะการบินผ่านน่านฟ้าแต่ละประเทศตามระยะเวลาที่กำหนดว่าต้องถึงจีน ซึ่งต้องทำให้ได้ นอกจากนี้ ยังจัดทำแผนการ เลี่ยงเส้นทางการบินสำรองไว้ด้วย ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินใดๆ สนามบินสำรอง (Alternate Aerodrome) ในแต่ละจุดอยู่ที่ไหน
ที่มา : Thai Corporate Communications
โดยเฉพาะช่วงที่บินเข้าน่านฟ้าอิสราเอล หากนัดไว้เวลานี้ ต้องระบุให้ตรงตามเวลาที่นัดหมายกันไว้ เนื่องจากทางอิสราเอลมีมาตรการควบคุมความปลอดภัยขั้นสูงสุด เพราะเป็นช่วงระหว่างการสู้รบ
เมื่อเครื่องจอดที่สนามบินนานาชาติเบน กูเรียน กรุงเทล อาวีฟ เรียบร้อยแล้ว มีเวลาจำกัดที่ต้องนำผู้โดยสารและสัมภาระขึ้นเครื่อง ในเที่ยวบินนี้ การบินไทยได้รับแจ้งจากสถานทูตไทยที่อิสราเอลว่ามีผู้โดยสารเดินทางกลับไทยทั้งหมด 280 คน แต่มาจริงๆ เพียง 266 คน
เข้าใจถึงความจำเป็นของแรงงานที่มาไม่ได้ แต่ด้วยเงื่อนไขของเวลาที่จำกัด จึงต้องตัดชื่อออก
แต่ทุกคนได้สิทธิขึ้นเครื่องกลับในไฟลท์ถัดไปทันที
ทำไมต้องใช้ โบอิ้ง777-200ER
กัปตันชิงชีพ ตอบคำถามกลับว่า "ทำไมจะไม่ใช้ โบอิ้ง 777-200ER ล่ะ" เพราะเครื่องบินตองเจ็ดมีสมรรถนะที่พร้อมทำการบินในภารกิจนี้มากที่สุด เนื่องจากใช้ระยะการวิ่งขึ้นบนรันเวย์สั้น บรรจุคนได้มาก เดินทางได้ไกลโดยไม่ต้องแวะเติมน้ำมัน ทำให้ประหยัดเวลาไปรับได้เหมาะสมที่สุด เมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่นอื่น
ที่มา : Thai Corporate Communications
นอกจากนั้นแล้ว โบอิ้ง 777 จะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความคุ้นเคยกับเครื่องจำนวนมาก เพราะเป็นเครื่องที่ได้รับความนิยม ที่อิสราเอล ไม่มีพนักงานภาคพื้นของการบินไทย ต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ของอิสราเอล การใช้ โบอิ้ง 777 จึงง่ายต่อการประสานมากกว่าเครื่องรุ่นอื่น
ทีมปฏิบัติงานมีทั้งหมด 30 คน ต้องแบ่งเวลาในการพักผ่อน เพื่อให้ทุกคนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โบอิ้ง 777 มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับทุกคนได้ดี ไม่ว่าจะเป็นลูกเรือหรือผู้โดยสาร
สิ่งที่น่าภูมิใจอย่างมากคือ ทุกคนในทีมตั้งใจที่จะมาบิน อยากช่วยคนไทยในอิสราเอล ในฐานะที่เป็น ผอ.ฝ่ายความปลอดภัยและรับรองคุณภาพองค์กร เป็นคนคิดแผนร่วมกับน้องๆ ผมก็ต้องทำให้แผนเกิดขึ้นจริงให้ได้ พาทุกคนไปบินและกลับด้วยความปลอดภัย คือ เป้าหมายในการบินครั้งนี้
มากไปกว่านั้น ในภารกิจนี้ แผนกลูกเรือคัดเลือกลูกเรือที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เช่น พยาบาล เพื่อคอยดูแลผู้โดยสารที่กลับไทย ไม่ใช่เฉพาะแผนการบินที่ต้องละเอียด แต่การดูแลผู้โดยสารบนเครื่องก็ให้ความสำคัญเช่นกัน
การบินไทยเตรียม โบอิ้ง 777-200ER ไว้ 3 ลำที่จะใช้บินรับแรงงานไทย โดยจะบินสลับวันกับกองทัพอากาศไทย ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง การบินไทย เที่ยวบิน BKK-TLV จะมีอีกระยะหนึ่ง และจะทำแผนควบคู่กันไปกับการมีสายการบินอื่นที่รัฐบาลติดต่อไว้โดยรับผู้โดยสารคนไทยจากเทล อาวีฟ ไปสนามบินที่มีความเสี่ยงน้อยลงและจากนั้นการบินไทยก็จะรับช่วงต่อเพื่อบินเข้าประเทศไทย
อ่าน : เริ่ม 22 ต.ค.นี้ เริ่มแผนอพยพ "คนไทย" จากอิสราเอลต่อเครื่องดูไบ
Lesson Learnt จาก MH17
"ทุกอุบัติเหตุด้านการบิน นักบินจะศึกษาเสมอ" เช่นเดียวกับการบินไปในพื้นที่เสี่ยงครั้งนี้ ทีมการบินไทยใช้กรณีศึกษาจาก MH17 เหตุการณ์ที่เครื่องบิน B777-200ER ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส ถูกมิสไซล์ยิงจนตก และทำให้ผู้โดยสาร กับลูกเรือบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมดเมื่อ 8 ปีก่อน
จึงเป็นที่มาที่ไป ที่การบินไทยต้องวางแผนให้รอบคอบมากที่สุด และทำความเข้าใจทุกความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศปลายทาง อิสราเอลในขณะนี้ก็ไม่ไว้วางใจใครทั้งสิ้น เครื่องที่บินเข้ามาต้องทำตามทุกคำสั่ง หากทางเทล อาวีฟ สั่งให้เลี้ยวขวาก็ต้องเลี้ยว ถ้าไม่ทำตามก็อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดเหตุบานปลายได้
เมื่อเครื่องจอดรอรับผู้โดยสาร พนักงานทุกคนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในไฟลท์ขากลับก็รีบประจำหน้าที่ของตัวเอง เพราะมีเวลาจำกัดและทางอิสราเอลก็มีคำสั่ง อย่าทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อความเข้าใจผิด เราก็เลยไม่มีใครกล้าทำอะไรมากเลย แม้กระทั่งถ่ายรูปบนเครื่องก็ยังไม่กล้า กัปตันเล่าปนเสียงหัวเราะ แต่ก็กำชับว่าเวลานั้นก็ไม่มีใครขำออกเหมือนกัน ทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่กันมาก
ที่มา : Thai Corporate Communications
ในฐานะ "ไม้ 1" หรือผู้ที่ทำการบินเป็นคนแรกของภารกิจ รวมถึงเป็น Pilot in Command หรือนักบินผู้ควบคุม (ทุกอย่าง) ในอากาศยาน กัปตันชิงชีพ กล่าวว่า ภารกิจนี้คงจะไม่สำเร็จถ้าทุกคนในทีมไม่ร่วมมือกัน การประสานงานจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน สถานทูตไทยที่อิสราเอล หน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนอีกมากมาย ที่พยายามตามหาคนไทยมาขึ้นเครื่องให้ได้ ทุกฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเองได้ดีที่สุดจริงๆ
วันนี้การบินไทยไม่ได้ไปช่วยพวกเขาแต่ฝ่ายเดียว แต่พวกเราก็ได้รับความช่วยเหลือจากทุกฝ่ายเช่นกัน
อ่านข่าวเพิ่ม :
กต.ออกแถลงการณ์ต่อเหตุโจมตี รพ.ในฉนวนกาซา
2 ฝ่าย "อิสราเอล-กลุ่มอิสลามิกจิฮัด" ปัดโจมตี รพ.ในกาซา
ทั่วโลกประณาม! มือมืดโจมตี รพ.ในกาซา เสียชีวิตอย่างน้อยครึ่งพัน