วันนี้ (20 ต.ค.2566) การเรียนที่ถดถอยของเด็กไทย ในช่วงโควิด-19 จนสถานการณ์คลี่คลาย โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่เด็กหลายคนมองว่า ยังเป็นปัญหาต่อการเรียน แม้เด็กจะกลับมาเรียนเต็มรูปแบบ แต่การทบทวนบทเรียนที่ขาดหายไปช่วงโควิด-19 เป็นความท้าทายของครูและนักเรียน
กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) จะจัดประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
หลังภาวะการระบาดของโควิด-19 ระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-1 พ.ย.2566 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ในวาระเฉลิมฉลองครบ 100 พรรษา วันประสูติ
ในงานประชุมครั้งนี้ จะมีนักวิชาการชั้นนำของโลก ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดทำรูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เช่น นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยจะมีการบรรยายทางวิชาการ
เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อเกี่ยวกับการศึกษาสำหรับทุกคน การสนับสนุนนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ การเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาเข้าสู่ยุคดิจิทัล รวมทั้งนิทรรศการเทิดพระเกียรติ
รศ.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการ สอวน.เปิดเผยว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาผลกระทบของโควิด - 19 ได้ส่งแรงสั่นสะเทือนต่อการเรียนการสอนทั่วโลก ซึ่งแม้จะใช้การเรียนการสอนออนไลน์ทดแทนการสอนแบบเผชิญหน้า face to face แต่ก็ยังมีช่องว่างในการสร้างคุณภาพการเรียนรู้
ด้วยเหตุที่วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นฐานความรู้ในการสร้างคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนอนาคต งานนี้จึงเป็นเวทีสำคัญที่ดึงดูดนักคิด นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้า ร่วมกันพิจารณาปัญหาที่นานาประเทศต้องเผชิญ รวมทั้งผลการปรับเปลี่ยนต่อระบบการศึกษา หาแนวทางต่อยอดพัฒนาภายหลังการระบาดของโรค
อ่านข่าวอื่นๆ
ขสมก.ยุติเดินรถ 5 เส้นทาง เริ่ม 1 พ.ย.นี้