ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รวม “เครื่องมือ” ช่วยหาแหล่งอ้างอิง "ข่าววิทยาศาสตร์"

Logo Thai PBS
รวม “เครื่องมือ” ช่วยหาแหล่งอ้างอิง "ข่าววิทยาศาสตร์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อ้างอิงข่าววิทยาศาสตร์อย่างไรให้น่าเชื่อถือ การอ้างอิงอาจทำได้ทั้งการอ้างการเขียนข่าวจากสำนักอื่นที่น่าเชื่อถือ หรืออ้างอิงจากวารสารวิชาการโดยตรง

ทุกวันนี้ข่าววิทยาศาสตร์ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยข่าววิทยาศาสตร์จะมีการสรุปผลโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น ข่าวนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ก็จะต้องมีการอธิบายกระบวนการที่ใช้ วิธีการยืนยันข้อมูลว่ารู้ได้อย่างไรว่าค้นพบจริง ๆ ไม่ใช่วัตถุอื่น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้อาจหล่นหายไปบ้างในการเขียนข่าว

วันนี้ทาง Thai PBS Sci & Tech จะมาแนะนำเทคนิคและเครื่องมือที่ใช้ในการอ้างอิงแหล่งข่าววิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง

ขั้นแรกต้องเข้าใจก่อนว่าในกระบวนการศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์นั้น โดยปกติแล้วเมื่อนักวิจัยรวบรวมข้อมูล สังเกต ค้นคว้า ตีความ และสรุปผลออกมา จะมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัย หรือที่เรียกว่า “เปเปอร์” (Paper) ลงในวารสารวิชาการ (Journal) ซึ่งกระบวนการนี้จะประกอบไปด้วยการอ้างอิงงานวิจัยอื่น การตรวจสอบโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือการรีวิว (Peer-Review) เพื่อทำให้แน่ใจว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างมีหลักการ และสามารถนำไปอ้างอิงต่อได้ ดังนั้น ข่าววิทยาศาสตร์จึงมักจะเป็นการนำเอาเปเปอร์เหล่านี้มาเล่า

ปกติแล้ว ข้อมูลข่าวสารการค้นพบต่าง ๆ ก็มักจะถูกตีพิมพ์ออกมาผ่านวารสารหลากหลายหัว เช่น Nature หรือ Science ซึ่งก็อาจมีหัวย่อยลงไปได้ด้วยเช่นกัน เช่น Nature Astronomy แต่สิ่งที่ทุกหัวจะมีเหมือนกันก็คือ จะมีสิ่งที่เรียกว่า DOI หรือ Digital Object Identifier เป็นเลขมาตรฐานสากลประจำไฟล์ดิจิทัล สำหรับเอกสารดิจิทัลประเภทงานวิจัย วิทยานิพนธ์ และบทความทางวิชาการ

เครื่องมือที่สามารถช่วยให้เราสามารถค้นหาข้อมูลตามหัวข้อที่เราสนใจได้ เช่น Google Scholar ที่ทำงานคล้ายกับเสิร์ชเอนจิน (Search Engine) ปกติ แต่จะค้นหาเฉพาะงานด้านวิชาการหรือเปเปอร์เท่านั้น แถมยังสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับเปเปอร์และผู้วิจัยได้ด้วยเช่นกัน มีการรวบรวมผลงานของผู้วิจัยนั้น ๆ ไว้อย่างเข้าถึงได้ง่าย เครื่องมือนี้ช่วยให้ผู้เขียนข่าวสามารถเข้าใจบริบทของผู้วิจัยได้ เช่น นักวิจัยท่านนี้มีความสนใจในศาสตร์หรือสาขาใด

Google Scholar จึงเป็นหนึ่งเครื่องมือที่นักข่าวควรใช้ให้เชี่ยวชาญ ที่จะช่วยให้ผู้เขียนสามารถอ้างอิงไปยังเปเปอร์ได้โดยตรง อย่างไรก็ตามนอกจากการอ้างอิงข่าววิทยาศาสตร์ไปยังเปเปอร์โดยตรงแล้ว เราก็อาจสามารถอ้างอิงเว็บไซต์ข่าวสารอื่น ๆ ได้เช่นกัน โดยอาจเป็นเว็บไซต์ที่ทำประเด็นเฉพาะด้านนั้น ๆ เช่น Wired ที่เน้นข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ The New York Times ที่มีข่าวประเด็นอื่นด้วย

อย่างไรก็ตาม การอ้างอิงแหล่งข่าวที่เป็นข่าว อาจมีข้อควรระวังคือ หากแหล่งข่าวต้นทางแปลความข้อมูลจากเปเปอร์ หรือบทความทางวิชาการผิด เว็บอื่น ๆ ก็อาจเขียนผิดตามกันไปเป็นทอด ๆ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำไม เราจึงควรทำความเข้าใจและสามารถเข้าถึงเปเปอร์ได้โดยตรง

แผนภาพการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวที่เขียนข่าววิทยาศาสตร์

แผนภาพการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวที่เขียนข่าววิทยาศาสตร์

แผนภาพการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวที่เขียนข่าววิทยาศาสตร์

เว็บไซต์ Real Clear Science ได้ร่วมมือกับอเล็กซ์ แบร์ซาว (Alex Barezow) จาก American Council on Science and Health ทำแผนภาพจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวที่เขียนข่าววิทยาศาสตร์ไว้ ในบทความ Ranked: The Best & Worst Science News Sites เอาไว้ด้วยเช่นกัน โดยจะเห็นว่าในแผนภาพได้ให้ความสำคัญกับ Evidence-Based Reporting หรือการรายงานตามหลักฐาน ในขณะที่ข่าวในลักษณะ Idologically Driven หรือการเขียนตามใจ เขียนมั่ว ๆ นั้น โดยมากจะเป็นเว็บข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเขียนข่าววิทยาศาสตร์นั้นก็คือเข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และสามารถถ่ายทอดกระบวนการเหล่านี้ออกมาได้ มากกว่าแค่การนำข้อมูลมาเล่า ๆ ต่อเพียงเท่านั้น

ที่มาภาพ:Unsplash

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง