อาศิส พิทักษ์คุมพล เกิดเมื่อวันที่ 6 มี.ค.2490 ที่ จ.สงขลา สืบเชื้อสายมาจาก สุลต่าน สุลัยมาน ชาห์ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม-รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นบุตรของนายมะแอ (ฮัจญีอิสมาแอล) กับ นางน๊ะ (อามีนะห์) เบ็ญสะอีด โดยนายอาศิสมีพี่น้องทั้งหมด 4 คน
- นายอาศิส พิทักษ์คุมพล (ถึงแก่อนิจกรรม 22 ต.ค.2566)
- นางสาเร๊าะ พิทักษ์คุมพล
- นายดนเล๊าะ พิทักษ์คุมพล (เสียชีวิต 21 ต.ค.2566)
- นางสาวฟาตีม๊ะ พิทักษ์คุมพล
อาศิสในวัยเด็ก ศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านหัวเขา ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา ต่อมาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสงเคราะห์ประชา อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา สำหรับสายศาสนานั้นท่านศึกษาที่ปอเนาะอัลนาซอนีย๊ะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และที่ปอเนาะตุยง (ปัจจุบันคือโรงเรียนสกุลศาสน์อิสลาม) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
เส้นทางการทำงาน "อาศิส พิทักษ์คุมพล"
ในยุคที่ นายประเสริฐ มะหะหมัด ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ 16 แห่งราชอาณาจักรไทย ได้เสนอชื่อนายอาศิสเพื่อโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และได้มอบหมายให้ดูแลงานวิชาการร่วมกับนายวินัย สะมะอุน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นายอาศิส เป็นประธานกรรมการอิสลามประจำ จ.สงขลา และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้มาโดยตลอด และเมื่อ พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ได้ประกาศใช้ โดยกำหนดให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกอบด้วยกรรมการผู้ที่เป็นผู้แทนของแต่ละจังหวัด ซึ่ง นายอาศิส ก็ได้รับการเลือกให้เป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.สงขลา ในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2539 นายอาศิส ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาสัดส่วนผู้นำศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นแล้วยังเป็นที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษาเพื่อใช้ในสถานศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาตใต้และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
วันที่ 16 พ.ค.2553 ได้รับลงคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 จากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ซึ่งนับเป็นคนที่ 2 ต่อจากนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2553
วันที่ 5 ก.ค.2553 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 14 (ปัจจุบันคือ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี พร้อมด้วยคณะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานพระบรมราโชวาท
วันที่ 31 ก.ค.2557 นายอาศิส ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ปฏิเสธการรับตำแหน่งนี้ด้วยเหตุผลว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำศาสนาอิสลามในไทยไม่สมควรรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง
ในปี พ.ศ. 2566 นายอาศิส ได้เข้ารับการรักษาอาการป่วย โดยเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม เวลา 10:32 น. โดยมีกำหนดจัดพิธีละหมาดญะนาซะห์ (ละหมาดขอพร) ในวันที่ 23 ตุลาคม เวลา 10.00 น. ณ มัสยิดกลางประจำ จ.สงขลา ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
จุฬาราชมนตรีคือใคร
จุฬาราชมนตรี เป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย และเป็นตำแหน่งฝ่ายมุสลิม ให้ข้อปรึกษาด้านศาสนาอิสลามแก่รัฐบาลไทย โดยเฉพาะแก่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวัฒนธรรม มีประวัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในทำเนียบศักดินาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทำเนียบตำแหน่งขุนนาง ซึ่งในชั้นหลังเรียกว่า "กรมท่าขวา" มี "พระจุลาราชมนตรี" เป็นหัวหน้าฝ่ายแขก คู่กับ หลวงโชฎึกราชเศรษฐี หัวหน้าฝ่ายจีน
โดย เจ้าพระยา เฉกอะหมัด รัตนราชเศรษฐี (เฉกอะหมัด) ปฐมจุฬาราชมนตรี ท่านเฉกอะหมัดได้เดินทางเข้ามาทำการค้าขายที่ตำบลท่ากายีใกล้กรุงศรีอยุธยา ต่อมาปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ท่านเฉกอะหมัดได้ช่วยปรับปรุงราชการกรมท่า จนได้ผลดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็น "พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี" เจ้ากรมท่าขวา และ จุฬาราชมนตรี นับได้ว่าท่านเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีและเป็นผู้นำพาศาสนาอิสลามนิกายชีอะหฺ มาสู่ประเทศไทย ท่านเป็นต้นสกุลของไทยมุสลิมหลายนามสกุลและสกุลบุนนาค เป็นต้นสกุลของเจ้าพระยาหลายท่านในระยะเวลาต่อมา
รายนามจุฬาราชมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
- เจ้าพระยา เฉกอะหมัด รัตนราชเศรษฐี (เฉกอะหมัด) เป็นคนที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 1 แห่งราชอาณาจักรไทย
- พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) เป็นคนที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 2 แห่งราชอาณาจักรไทย
- พระยาจุฬาราชมนตรี (สน) เป็นคนที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 3 แห่งราชอาณาจักรไทย
- พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) เป็นคนที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 5 แห่งราชอาณาจักรไทย
- พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) เป็นคนที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 5 แห่งราชอาณาจักรไทย
- พระยาจุฬาราชมนตรี (อากายี) เป็นคนที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 6 แห่งราชอาณาจักรไทย
- พระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) เป็นคนที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 7 แห่งราชอาณาจักรไทย
- พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) เป็นคนที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 8 แห่งราชอาณาจักรไทย
- พระยาจุฬาราชมนตรี (น้อย) เป็นคนที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 9 แห่งราชอาณาจักรไทย
- พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) เป็นคนที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 10 แห่งราชอาณาจักรไทย
- พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) เป็นคนที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 11 แห่งราชอาณาจักรไทย
- พระจุฬาราชมนตรี (เกษม อะหมัดจุฬา) เป็นคนที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 12 แห่งราชอาณาจักรไทย
- พระจุฬาราชมนตรี (สอน อะหมัดจุฬา) เป็นคนที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 13 แห่งราชอาณาจักรไทย
- จุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ฮัจยีซัมซุดดิน บิน มุสตาฟา) เป็นคนที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 14 แห่งราชอาณาจักรไทย
- จุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสตร์ เป็นคนที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 15 แห่งราชอาณาจักรไทย
- จุฬาราชมนตรี ประเสริฐ มะหะหมัด (อะหมัด บินมะหะหมัด) เป็นคนที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 16 แห่งราชอาณาจักรไทย
- จุฬาราชมนตรี สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ เป็นคนที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 17 แห่งราชอาณาจักรไทย
- จุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล เป็นคนที่ 14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรไทย
หน้าที่ของจุฬาราชมนตรี
เริ่มแรกในรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ได้รื้อฟื้นตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเมื่อ พ.ศ.2488 โดยให้เป็นที่ปรึกษาราชการขององค์พระมหากษัตริย์ ในด้านกิจการศาสนาอิสลาม
กระทั่ง พ.ศ.2491 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนให้จุฬาราชมนตรีเป็นที่ปรึกษากรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการ อย่างไรก็ดีหลังจากที่การประกาศใช้ พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ได้มีการระบุไว้ในกฎหมายนี้ว่า จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- ให้คำปรึกษาและความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
- แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติศาสนาอิสลาม
- ประกาศผลการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
- ออกประกาศเกี่ยวกับวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
- เป็นประธานอำนวยการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย
กฎหมายฉบับนี้ ยังให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้เป็นกิจลักษณะ โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นประธานและกรรมการอื่นจากผู้แทนของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและกรรมการที่จุฬาราชมนตรีเสนอชื่อ ซึ่งจะมีบทบาทในด้านการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ขณะที่สำนักจุฬาราชมนตรีนั้นเป็นหน่วยธุรการของจุฬาราชมนตรี
หลังจากประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวไม่นาน นายประเสริฐ มะหะหมัด จุฬาราชมนตรีในขณะนั้นได้ถึงแก่อนิจกรรม และผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนต่อมาคือ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ขณะมีอายุได้ 94 ปีเศษ ซึ่งเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งตามกฎหมายฉบับนี้ โดยดำรงตำแหน่งจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553
และวันที่ 16 พ.ค.2553 ที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศได้มีมติให้ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีต่อจากนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 แห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2553
ที่มา : สำนักจุฬาราชมนตรี, Wikipedia