วันนี้ (24 ต.ค.2566) ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีฆ่าทนายดัง หมายเลขดำ อ.2915/2565 ที่พนักงานอัยการคฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ และ น.ส.ธิษณามดี เสถียรเขตต์ ภรรยา โจทก์ร่วม ฟ้องนายนิติพนธ์ ฉ่ำชื่น, นายปิติ นิชรัตน์ และนายเสถียร บุญกล้า เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พ.ร.บ.อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง
คำฟ้องโจทก์ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2565 เวลากลางคืน จำเลยที่ 1-2 ได้ร่วมกันมีอาวุธปืนขนาด .38 ที่เป็นของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยทั้ง 1-2 แบ่งหน้าที่กันทำ ใช้อาวุธปืนดังกล่าวไปยิงนายมานพ เสถียรเขตต์ ทนายความชื่อดัง อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.ระยอง พรรคไทยรักษาชาติ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย จำนวน 3 นัด จนถึงแก่ความตาย ภายในปั๊มนำมัน ปตท.ของผู้ตาย ที่ ต.บ้านค่าย อ.บ้านค่าย จ.ระยอง จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1-2 กระทำผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความเป็นลำดับขั้นตอนสอดคล้องกันโดยไม่มีพิรุธ ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำ แม้คำให้การในชั้นสอบสวนจะเป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่ตามสภาพแวดล้อม แหล่งที่มา ซึ่งตำรวจเป็นผู้สอบสวนและข้อเท็จจริง โดยจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพโดยสมัครใจ ซัดทอดจำเลยที่ 1 ว่า มีส่วนในการวางแผนการกระทำผิดด้วย เช่น การเข้าพักที่รีสอร์ทห้องเดียวกัน มีการพาไปดูสถานที่ก่อเหตุ ทั้งนี้ภาพจากกล้องวงจรปิดหลายจุด เห็นว่าหลังจากที่จำเลยที่ 2 ก่อเหตุฆ่าผู้อื่นตายแล้วได้ทิ้งรถจักรยานยนต์ และไปขึ้นรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์มารับ
ดังนั้นจึงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธของผู้อื่นมายิงผู้ตายโดยมีเจตนาฆ่าแบบไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนจำเลยที่ 1 แม้ไม่ได้อยู่ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุพอจะให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวก จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 แต่เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ คือ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่พาจำเลยที่ 2 ไปดูสถานที่ก่อเหตุ จัดหารถจักรยานยนต์ นัดหมายเพื่อหลบหนี มอบอาวุธปืนให้จำเลยที่ 2 จึงเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกจำเลยที่ 2 ในการกระทำผิด จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานสนับสนุนฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา 289 (4)
สำหรับจำเลยที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธปืนที่จำเลยที่ 2 ใช้ก่อเหตุ เนื่องจากจำเลยที่ 3เป็นผู้ซื้อปืนและครอบครองอย่างถูกต้อง โดยอ้างว่าจะนำไปให้ลูกชายป้องกันตัว จากนั้นได้ฝากภรรยาเก็บไว้ และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับอาวุธปืนอีก ซึ่งคำเบิกความของจำเลยที่ 3 มีน้ำหนักน้อย เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ได้นำอาวุธปืนไปมอบให้จำเลยที่ 2 ไปยิงผู้ตาย จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานสนับสนุนฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วย
ศาลพิพากษาว่า “จำเลยที่ 1-3 มีความผิด การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1-2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยจำเลยที่ 1 ให้จำคุกตลอดชีวิต ฐานเป็นผู้สนับสนุนฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, จำเลยที่ 2 ให้ลงโทษประหารชีวิต ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่จำเลยที่2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุให้บรรเทาโทษ คงจำคุกตลอดชีวิต, จำเลยที่ 3 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานสนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และให้จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันชดใช้แก่โจทก์ร่วมจำนวน 2 ล้านบาท บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีนับแต่วันที่ละเมิด
ด้านนางศัณนีย์ เจริญศึกษา พี่สาวของทนายมานพ เปิดเผยว่า ผลคำพิพากษาถึงแม้จะได้รับความเป็นธรรม แต่ไม่สามารถชดเชยการเสียชีวิตของน้องชายได้ ดังนั้นครอบครัวจะเดินหน้าหาความจริงว่า ใครเป็นผู้จ้างวาน ซึ่งขณะนี้คดียังคงอยู่ที่กองบังคับการปราบปราม และทางครอบครัวจะติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมฝากถึงกระทรวงมหาดไทยที่มีนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ขอให้ตรวจสอบในพื้นที่ จ.ระยอง ที่มีผู้มีอิทธิพลอยู่ในจังหวัด ซึ่งเกรงว่าจะทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม
นางศัณนีย์ ยอมรับว่า กลัวกับภัยที่จะคุกคามถึงชีวิต ต้องต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ แต่เกิดมาครั้งเดียว ตายครั้งเดียว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในพื้นที่ จ.ระยอง