ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

DSI จับผู้บริหาร "ดูทีวี มีเดีย" ละเมิดลิขสิทธิ์ช่อง 7 เสียหาย 2,809 ล้านบาท

อาชญากรรม
25 ต.ค. 66
19:51
6,950
Logo Thai PBS
DSI จับผู้บริหาร "ดูทีวี มีเดีย" ละเมิดลิขสิทธิ์ช่อง 7 เสียหาย 2,809 ล้านบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ดีเอสไอ จับกุมผู้บริหาร "ดูทีวี มีเดีย" ละเมิดลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ของช่อง 7 จำนวน 592 รายการ มูลค่าความเสียหาย 2,809 ล้านบาท

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สืบสวนสอบสวนกรณีบริษัท ดูทีวี มีเดีย จำกัด กับพวก ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และงานแพร่เสียงแพร่ภาพของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยการทำซ้ำ ตัดต่อ

และนำข้อมูลในรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่แพร่เสียงแพร่ภาพผ่านทางช่อง 7 สี เช่น รายการละคร รายการข่าว รายการวาไรตี้ รายการซีรีส์ รายการภาพยนตร์ต่างประเทศ และรายการพิเศษต่าง ๆ

ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของบริษัทฯ และละเมิดเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายบริการ เพื่อนำไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ดูทีวีดอทคอม (www.dootv.com) และเว็บไซต์ไทยฟลิกซ์ดอทคอม (www.thaiflix.com) โดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ มีการเรียกเก็บค่าสมาชิกจากลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ชมที่อยู่ในต่างประเทศผ่านบัญชี Paypal ในอัตรา 14 เหรียญสหรัฐ ต่อ 30 วัน อีกทั้งยังมีการตั้งสำนักงานหลายแห่งทั้งในประเทศไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าว

รวมจำนวนรายการละครที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมด 592 รายการ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 2,809,255,221 บาท เป็นคดีพิเศษที่ 58/2560 เหตุเกิดขึ้นในช่วงประมาณเดือน มี.ค.2558 ถึงประมาณเดือน ส.ค.2561

กระทั่งเมื่อวานนี้ (24 ต.ค.2566) เจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวน คดีพิเศษ ได้จับกุมผู้บริหารของบริษัท ดูทีวี มีเดีย จำกัด จำนวน 2 คน ส่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ และเร่งติดตามจับกุมผู้ต้องหาอีก 6 คน เพื่อมาดำเนินคดีต่อไป

คดีพิเศษที่ 58/2560 เป็นคดีแรกของทางกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีการสืบสวนสอบสวนการละเมิดลิขสิทธิ์บนระบบคลาวด์ (Cloud)

โดยกลุ่มผู้ต้องหาเป็นโปรแกรมเมอร์ ที่มีความรู้ความสามารถสูง มีการจัดเก็บข้อมูลรายการโทรทัศน์ของผู้เสียหาย ไปยังเครื่องแม่ข่าย (Server) ที่อยู่ในสหราชอาณาจักร โดยปิดกั้นการเข้าถึงหรือการรับชมจากประเทศไทย มีการสับเปลี่ยนเว็บไซต์ และพัฒนาเว็บไซต์ใหม่ ๆ ขึ้นมาทดแทนเป็นระยะ เพื่อเลี่ยงกฎหมายและไม่ให้ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดลิขสิทธิ์

นอกจากนี้ ยังใช้ระบบการทำธุรกรรมทางการเงินในของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ยากแก่การติดตามเส้นทางการเงิน ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมโทรทัศน์ของไทย ได้รับความเสียหายจากกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินกิจการอย่างผิดกฎหมายดังกล่าว

อ่านข่าวอื่นๆ

"บิ๊กอุทยาน" ยันย้าย 70 อัตราเลือกคนตรงปก ชุดพญาเสือผงาด

"ศุภมาส" เชิญ "จุฬา - อุเทนถวาย" หารือทำตามคำสั่งศาลฯ ให้ย้าย "อุเทนถวาย" ออกจากพื้นที่

"เศรษฐา" ผุดไอเดียปล่อยกู้ 1.5 แสนบาท ดึงแรงงานในอิสราเอลกลับไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง