วันที่ 25 ตุลาคม 2566 นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยตัวเลขคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่ถูกแจ้งความกว่า 300,000 คดี ในช่วง 1 ปีเศษ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถึงปัจจุบัน
พร้อมย้ำว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก เพราะมีผู้ไม่หวังดีเข้าไปใช้ประโยชน์จากตลาดออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ความเสียหายเป็นวงกว้าง การแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ดีกว่า
ด้าน พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผกก.กลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ บก.ตอท. มองว่า ขณะนี้ยังมีช่องว่างเรื่องความล่าช้าในการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพราะตำรวจได้รับข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ช้า หากต้องรอให้เป็นคดีก่อน การสืบสวนสอบสวนแบบเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยับยั้งความเสียหายไม่ได้
อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจากเมตา ผู้ดูแลแฟลตฟอร์มเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และเทรดส์ ย้ำว่า เมตา จะลบเนื้อหาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการหลอกลวง จงใจให้ข้อมูลที่ผิด ฉ้อโกง หรือแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่นในทางที่ผิด หากแพลตฟอร์มพบว่า บัญชีใดมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหลอกลวง เจ้าของบัญชีต้องแสดงตัวตน เพื่อยืนยันว่า ไม่ได้ละเมิดกฎ แต่หากไม่สามารถยืนยันตัวตน บัญชีจะถูกลบออก
นอกจากนี้ เมตาจะบังคับใช้กฎหมายผ่านการทำงานร่วมกันกับรัฐบาลและตำรวจ
ช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 เมตาได้ลบบัญชีปลอมออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลก บนเฟซบุ๊ก โดยร้อยละ 98.8 ถูกลบผ่านระบบ AI ก่อนจะถูกผู้ใช้กดรายงาน ทางเฟซบุ๊กย้ำว่า ประชาชนต้องรู้เท่าทัน และต้องคอยสังเกต หากพบเพจที่มีลักษณะเข้าข่ายเพจปลอม หรือมีพฤติกรรมฉ้อโกง ต้องช่วยกดรายงานไปที่เฟซบุ๊ก เมื่อตรวจสอบเสร็จแล้ว เพจเหล่านี้ จะถูกลบออกจากแพลตฟอร์ม
อ่านข่าวอื่นๆ :