วันนี้ (27 ต.ค.2566) สำนักข่าว CNN รายงานว่า กัมพูชาเปิดสนามบินแห่งใหม่และใหญ่ที่สุด ให้บริการเชิงพาณิชย์ใน จ.เสียมราฐ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา "สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ-อังกอร์" ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากประเทศจีน ถือว่าเป็นประตูหลักบานใหม่ เปิดสู่ 1 ในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดของประเทศ "นครวัด"
นครวัด
สนามบินแห่งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากจีน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) งบประมาณก่อสร้าง 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7,000,000 คน/ปี มากกว่า สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ (REP) ถึง 2,000,000 คน และมีทางวิ่งยาว 3,600 เมตร
สำนักงานเศรษฐกิจและการพาณิชย์ของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา ระบุว่าท่าอากาศยานแห่งนี้เป็นสนามบินนานาชาติในต่างประเทศแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้โมเดล "สร้าง-ดำเนินการ-โอน" โดยองค์กรต่างๆ ของจีน มีการดำเนินการบริหารจัดการ โดยกลุ่มการลงทุนอุตสาหกรรมการบินยูนนาน กำหนดให้เป็น "สนามบิน ระดับ 4E" คือรองรับเครื่องบินพาณิชย์ขนาดเล็กไปจนใหญ่ เช่น โบอิง737, โบอิง 777, โบอิง 787 และตระกูล แอร์บัส 320, แอร์บัส 330
ตลาดการท่องเที่ยวกัมพูชาฟื้นตัว
ข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่โดยกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา เปิดเผยว่าประเทศได้รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3,500,000 คน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 250.8 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 19.7 จากปี 2562 ก่อนที่ประเทศจะปิดพรมแดนเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นักท่องเที่ยวเที่ยวนครวัด
เมื่อกัมพูชาผ่อนคลายข้อจำกัดการเข้าประเทศจากโควิด และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอีกครั้งในเดือน มี.ค.2565 ประเทศคาดว่าจะรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 4,500,000 - 5,000,000 คน ภายในสิ้นปีนี้กระทรวงกล่าว
ผู้มาเยือนจำนวนมากมุ่งหน้าไปที่เสียมราฐเพื่อสัมผัสนครวัด ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามคำจารึกของ UNESCO อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 400 ตร.กม. เป็นที่เก็บรักษาซากเมืองหลวงต่างๆ ของจักรวรรดิเขมรตั้งแต่ศตวรรษที่ 9-15 แต่มีสถานที่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น เช่น นครวัด นครธม และ บายน เท่านั้นที่ได้รับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ประติมากรรมในนครวัด
เปิดประตูย้อนดูประวัติศาสตร์ "นครวัด"
นครวัด (เขมร: អង្គរវត្ត) เป็นหมู่ปราสาทในประเทศกัมพูชาและเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก แรกเริ่มนั้นสร้างขึ้นเป็นเทวลัยในศาสนาฮินดูเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ ก่อนจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงกลายเป็นวัดในศาสนาพุทธในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12
ตามตำนานแล้ว การก่อสร้างปราสาทนครวัดนั้น สร้างขึ้นตามคำสั่งของพระอินทร์ ซึ่งต้องการสร้างปราสาทนี้ให้เป็นวังที่ประทับของพระโอรสของพระองค์ ตามบันทึกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ของนักเดินทางนามว่า โจว ตากวน ได้ระบุว่ามีผู้คนบางส่วนเชื่อกันว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นโดยเทพแห่งสถาปัตยกรรมศาสตร์ในเวลาเพียงหนึ่งคืน
นครวัด
ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 นครวัดได้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากศูนย์กลางด้านจิตใจ ในศาสนาฮินดูไปเป็นศาสนาพุทธ ซึ่งก็ได้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทอื่นในเมืองพระนคร แม้ตัวปราสาทจะหมดความสำคัญลงไปหลังคริสศตวรรษที่ 16 แต่ตัวปราสาทกลับไม่เคยถูกทิ้งร้างอย่างสมบูรณ์เลย ซึ่งต่างจากปราสาทหลังอื่นๆ ในเมืองพระนคร ปราสาทแห่งนี้ได้รับการปกป้องจากการรุกล้ำของป่าเนื่องด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าคูน้ำรอบปราสาทนั้นได้สามารถทำหน้าที่ป้องกันตัวปราสาทได้
มีการค้นพบศิลาจารึกที่มีอายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 กว่า 14 หลักในบริเวณพื้นที่เมืองพระนคร ระบุถึงผู้แสวงบุญชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้แสวงบุญในศาสนาพุทธที่ได้มาตั้งชุมชนเล็ก ๆ ติดกับชาวเขมรท้องถิ่น ต่อมา ในช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อ็องรี มูโอ นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสได้เดินทางมาที่ปราสาทแห่งนี้ โดยมูโอได้ทำให้นครวัดเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวตะวันตกผ่านบันทึกการเดินทางที่ได้รับการตีพิมพ์ของเขา
ในช่วงศตวรรษที่ 20 นั้น นครวัดมีความจำเป็นต้องได้รับการบูรณะเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นการกำจัดวัชพืชและกองดินแต่งานบูรณะก็ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศกัมพูชาและกองกำลังเขมรแดงก็ได้เข้ามาควบคุมประเทศตลอดระยะเวลานั้น แต่ตัวปราสาทก็ได้รับความเสียหายไม่มากนักจากการสู้รบ
ประติมากรรมในนครวัด
"นครวัด" ถือเป็นสัญลักษณ์ที่มีอิทธิพลที่สุดของประเทศกัมพูชา เป็นจุดสูงสุดของรูปแบบการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรแบบดั้งเดิม และยังเป็นความภาคภูมิใจของชาติที่มีส่วนช่วยในเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศฝรั่งเศส , สหรัฐอเมริกา และ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย ภาพลายเส้นของนครวัดยังถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของธงชาติกัมพูชา
ที่มา : CNN, ICAO, Wikipedia
อ่านข่าว :
One Day Trip นั่ง "รถไฟลอยน้ำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" ปี 2566
ช่วงปลายปี อากาศหนาวจัดอาจพบเห็นเหมยขาบ น้ำค้างแข็ง บนยอดดอย
ปลุกชีพจร "อัมพวา" บนฐานนิเวศวัฒนธรรม-วิถีชีวิตชุมชน
ความเชื่อ ศรัทธา "พญานาค" จากกาลสู่ปัจจุบัน