การสวดโอ้เอ้วิหารราย ซึ่งเป็นการสวดเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ในช่วงเข้าพรรษา กลางพรรษา และออกพรรษา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีทางศาสนา ถือเป็นธรรมเนียมทางวัฒนธรรมของไทยที่มีมาอย่างยาวนาน
ในปี 2566 เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ช่วงออกพรรษา กรมการศาสนา มีกำหนดสวด ในวันที่ 28 - 30 ต.ค. และมีนักเรียนจากสถานศึกษาที่ได้รับคัดเลือกจากการประกวด "สวดโอ้เอ้วิหารราย" เข้าร่วมสวดวันละ 12 โรงเรียน ทั้งนี้แบ่งการสวดออกเป็น 2 รอบ คือ รอบเช้าสวดเวลา 09.00 - 11.00 น. และรอบบ่ายสวดเวลา 13.00 - 16.00 น. สวดประจำศาลาราย 12 ศาลารอบพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
วัดพระแก้ว
อ่านข่าว : วันออกพรรษา 2566 ประวัติ ความสำคัญ และกิจกรรมชาวพุทธ
"การสวดโอ้เอ้วิหารราย" เป็นบทสวดที่ปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นการอ่านกาพย์พระไชยสุริยา ที่นำมาจากหนังสือมูลบทบรรพกิจ ซึ่งเป็นตำราเรียนขั้นปฐมภูมิของเด็กสมัยโบราณ เพื่อช่วยในการ "อ่านออกเสียง" และ "ผันวรรณยุกต์"
นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) เปิดเผยว่า "บทสวดโอ้เอ้วิหารราย" สอดแทรกคติธรรมต่าง ๆ ที่สามารถใช้ในการดำรงชีวิตได้ และเพื่ออนุรักษ์สืบสานไว้ให้คนรุ่นหลัง ส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสวดโอ้เอ้วิหารราย และได้มีส่วนร่วมของการสืบสานธรรมเนียม
การสวดโอ้เอ้วิหารรายที่กำลังจะเลือนหายไปจากสังคมไทย ให้ดำรงคงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ตลอดจนช่วยให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
สวดโอ้เอ้วิหารราย
อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า การสวดโอ้เอ้วิหารราย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ.2558 ซึ่งการสวดโอ้เอ้วิหารรายเดิมทีจะมีท่วงทำนองอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่อาจจะมีเค้ามาจากทำนองการเทศน์มหาชาติ เนื่องจากการสวดโอ้เอ้วิหารรายสืบเนื่องมาจากการฝึกหัดเทศน์มหาชาติแล้วค่อยกลายทำนองมาเป็นทำนองเฉพาะโอ้เอ้วิหารรายในปัจจุบัน
สวดโอ้เอ้วิหาร มี 3 ทำนอง ดังนี้
- "ทำนองกาพย์ยานี 11" เป็นทำนองที่เร็ว ว่องไว ฟังดูแล้วสนุกสนาน มีการออกเสียงเอื้อน แทรกระหว่างคำ ซึ่งทำนองจะจบลงในหนึ่งบาทเท่านั้น เมื่อขึ้นบทใหม่ก็จะใช้ทำนองเดิมซ้ำอีก
- "ทำนองกาพย์ฉบัง 16" เป็นท่วงทำนองที่เนิบช้าลงมาจากทำนองกาพย์ยานี จะเป็นทำนองกลางที่ไม่ช้าและเร็วเกินไป มีเอื้อนยาวและจังหวะเร็วเพื่อความไพเราะสนุกสนาน ตัวอย่าง บทสวดและทำนองสวด
- "ทำนองกาพย์สุรางคนางค์ 28" เป็นท่วงทำนองที่เนิบช้าที่สุด ซึ่งสร้างความไพเราะ ฟังแล้วรู้สึกสบาย ให้อารมณ์เศร้า มีการเอื้อนสอดแทรกหลายที่ การอ่านเว้นจังหวะ 2/2 คำ อ่านได้ทั้งเสียงธรรมดาและเป็นทำนองเสนาะ
การสวดโอ้เอ้วิหารราย
ตัวอย่างบทสวดโอ้เอ้วิหารราย
บทสวดโอ้เอ้วิหารราย ทำนองหลวง เรื่อง พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่ ศาลารายที่ 2
ยานี ๑๑ (แม่ ก กา)
ที่แพ้แก้ชนะ ไม่ถือพระประเวณี
ขี้ฉ้อก็ได้ดี ไล่ด่าตีมีอาญา
ที่ชื่อถือพระเจ้า ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา
ผู้เฒ่าเหล่าเมธา ว่าใบ้บ้าสาระยำ
ภิกษุสมณะ เล่าก็ละพระสธรรม
คาถาว่าลำนำ ไปเร่ร่ำทำเฉโก
ไม่จำคำผู้ใหญ่ ศีรษะไม้ในยโส
ที่ดีมีอะโข ข้าขอโมทนาไป
พาราสาวะถี ใครไม่มีปราณีใคร
ดุดื้อถือแต่ใจ ที่ใครได้ใส่เอาพอ
ผู้ที่มีฝีมือ ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ
ไล่คว้าผ้าที่คอ อะไรล่อก็เอาไป
ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มิได้ว่าหมู่ข้าไท
ถือน้ำร่ำเข้าไป แต่น้ำใจไม่นำพา
หาได้ใครหาเอา ไพร่ฟ้าเศร้าเปล่าอุรา
ผู้ที่มีอาญา ไล่ตีด่าไม่ปราณี
ผีป่ามากระทำ มรณกรรมชาวบูรี
น้ำป่าเข้าธานี ก็ไม่มีที่อาศัย
ข้าเฝ้าเหล่าเสนา หนีไปหาพาราไกล
ชีบาล่าลี้ไป ไม่มีใครในธานีฯ
เยาวชน "สวดโอ้เอ้วิหารราย" รอบพระอุโบสถ
อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า ในครั้งอดีต "การสวดโอ้เอ้วิหารราย" หายไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งสำนักพระราชวัง แจ้งให้กรมการศาสนาดำเนินการหาผู้ฝึกสอนการสวดคำฉันท์ตามหนังสือมูลบทบรรพกิจ และประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดหานักเรียนมาเข้ารับการฝึกหัดสวด และนำนักเรียนเข้าไปสวดโอ้เอ้วิหารราย พร้อมกับนักสวดพระมหาชาติคำหลวงของกรมการศาสนา นับตั้งแต่เทศกาลเข้าพรรษา พ.ศ.2553 เป็นต้นมา
จวบจนปัจจุบัน กองศาสนพิธี กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง มีการเปิดรับสมัครจากสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเข้ารับการอบรมและจัดการประกวดเพื่อคัดเลือกสถานศึกษาต้นแบบ และนำสถานศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการสวดโอ้เอ้วิหารราย
การสวดโอ้เอ้วิหารราย
โดยเข้าสวดในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา ทั้งนี้มีสถานศึกษาส่งนักเรียนและเยาวชนเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 129 แห่ง
ผู้สวดโอ้เอ้วิหารราย ต้องมีวินัยในการฝึกฝน พัฒนาทักษะทางด้านการอ่าน และการใช้เสียงที่ถูกต้องตามทำนองสวด เพื่อการขับร้องที่ไพเราะตามทำนองที่กรมศิลปากรกำหนด ส่งเสริมให้เยาวชนมีความซาบซึ้งในบทสวดที่แฝงด้วยศีลธรรม คติธรรม ก่อเกิดความสงบร่มเย็นภายในจิตใจ
นอกจากนี้ เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมด้านการสวดของไทยตั้งแต่สมัยโบราณเป็นมรดกของภูมิปัญญาไทยในด้านวรรณกรรม อักขรวิธี กาพย์ กลอน และภาษาไทยของชาติ สืบไป
สาระน่ารู้ "สวดโอ้เอ้วิหารราย"
หน่วยราชการในพระองค์ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมไว้ว่า เมื่อถึงฤดูฝนให้พระภิกษุที่จาริกรอนแรมออกไปสั่งสอนประกาศพระศาสนาในที่ต่าง ๆ ให้หยุดพักประจำ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ต่อมาเราเรียกสถานที่นั้นว่า วัดหรืออาราม ตลอดฤดูฝนเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงกึ่งกลางเดือน 11 เรียกว่า "เข้าพรรษา"
- พระราชพิธีหลวงในเทศกาลเข้าพรรษา กลางพรรษา และออกพรรษา จัดราชบัณฑิตนุ่งขาวห่มขาวสวดมหาชาติคำหลวงที่มุมด้านเหนือในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
- ภายนอกพระอุโบสถ นักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จะตั้งโต๊ะหมู่บูชาที่ศาลาราย 12 หลัง รอบพระอุโบสถ ผลัดกันอ่านฉันท์ที่ศาลาราย
นักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จะสวดโอ้เอ้วิหารราย เข้าพรรษา 3 วัน กลางพรรษา 3 วัน และออกพรรษา 3 วัน
ตามโบราณราชประเพณีในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า การสวดมหาชาติคำหลวง เป็นธรรมเนียมมีมาแต่ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม นัยหนึ่งเรียกว่า "โอ้เอ้พิหารราย"
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ด้วยทุกวันนี้ ก็ไม่มีผู้ใดชอบฟัง ด้วยฟังก็ไม่ใคร่จะเข้าใจ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดนักเรียนโรงทานอ่านหนังสือสวด ตามที่เล่าเรียนเป็นทำนองยานี ฉบัง สุรางคนางค์ ตามแต่ผู้ใดจะถนัด สวดเรื่องใดทำนองใดทุก ศาลาราย ศาลาละสองคน พระราชทานเงินเป็นรางวัล คนหนึ่งวันละสลึง
ถ้าผู้ใดสวดดีอาจารย์ก็กันมาไว้ศาลาที่เป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน ถ้าสำรับใดสวดดี บางปีก็ได้พระราชทานรางวัลเพิ่มเติมบ้าง เป็นการล่อให้นักเรียนมีใจฝึกซ้อมในการอ่านหนังสือ ส่วนที่สวดพระมหาชาติคำหลวงสำรับใหญ่นั้น ปัจจุบันยังคงสวดอยู่ในพระอุโบสถ ตามอย่างแต่ก่อน
การสวดโอ้เอ้วิหารราย
หนังสือสาส์นสมเด็จ กล่าวว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นเป็นปฐมที่โรงทานเข้าประตูต้นสน (ประตูศรีสุนทร) ครั้นถึงเทศกาลที่ขุนทินขุนทานสวดมหาชาติ คำหลวงในโบสถ์วัดพระแก้ว จึงโปรดให้จัดเด็กที่โรงทานมาสวด "โอ้เอ้วิหารราย" อย่างโบราณที่ศาลาราย
ครั้นเมื่อเลิกโรงเรียนที่โรงทาน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงสั่งให้โรงเรียน ชั้นประถมของหลวงที่ตั้งขึ้น ณ ที่ต่าง ๆ ให้จัดเด็กมาสวดโอ้เอ้วิหารรายแทนเด็กโรงทานโรงเรียนละศาลา รอบพระอุโบสถตั้งแต่นั้นมา จนเป็นพิธีสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
อ่านข่าวอื่น ๆ
รวมบทสวดมนต์ วันวิสาขบูชา 2566
"วันวิสาขบูชา 2566" วันสำคัญสากลของโลก ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 มิ.ย. ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7