วันนี้ (2 พ.ย.2566) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 3 พ.ย. เวลา 13.30 น. กระทรวงสาธารณสุขจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ทั้งฝ่ายความมั่นคง ด้านสังคม รวมถึงป.ป.ส. และอย.เกี่ยวกับการออกประกาศกำหนดจำนวนครอบครองเม็ดยาบ้า 5 เม็ด หรือ 10 เม็ด ว่า ควรครอบครอง กี่เม็ดถึงเป็นผู้เสพและเข้ารับการบำบัดรักษา เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ สธ.โดยตรง แต่ สธ.มีบทบาทในการนำผู้เสพมาบำบัดรักษาและฟื้นฟู เพราะถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วย การครอบครองกี่เม็ดเพื่อกำหนดและแยกผู้ค้าให้รับโทษทางกฎหมาย แต่กฎหมายใหม่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนด ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาจะดูทั้งจำนวนเม็ดที่เสพ ร่วมกับพฤติกรรม ที่ผ่านมาไม่มีใครพูดถึงพฤติกรรมของผู้เสพ หากเข้าข่ายค้าก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ว่าจะครอบครองกี่เม็ดก็ตาม ส่วนวันนี้ (2 พ.ย.) สธ.มีการหารือเป็นการภายใน เพื่อตกผลึกเรื่องนี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ นายแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าว คาดว่าภาพรวมผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติด ประมาณ 2 -2.5 ล้านคน เข้ารับการบำบัดโรงพยาบาล ประมาณ 100,000 คน ส่วนที่เหลือบำบัดในชุมชน ที่ผ่านมากระบวนการบำบัดรักษายาเสพติดพบว่า ยาบ้า คือกลุ่มยาที่เข้ารับการบำบัดรักษามากที่สุด สำหรับภาวะการติดสารเสพติดจะมีอาการรุนแรงทางจิตและประสาท ขึ้นอยู่กับ สารที่ได้รับในปริมาณมาก และรับเป็นเวลานานหรือไม่ โดยพบว่า มีประมาณร้อยละ 30 มีอาการทางจิต
ข้อมูลของสถบันบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ตั้งแต่ ม.ค. - ต.ค. 2566 มีผู้ใช้ยาบ้าร่วมยาอื่นเขาบำบัดรักษา 2,035 คน อายุน้อยสุด 0-14 ปี จำนวน 6 คน อายุ 15-19 ปีจำนวน 72 คน อายุ 20-24 ปี จำนวน 211 คน อายุ 25-29 ปี จำนวน 468 คน อายุ 30-34 ปี จำนวน 489 คน โดยอาชีพที่พบพฤติกรรมเสพยาบ้ามากสุด คือ ว่างงาน 879 คน รับจ้าง 794 คน ผู้เข้ารับการบำบัดครั้งแรก 1,238 คน มีการบำบัดซ้ำ 797 คน