วันนี้ (8 พ.ย.2566) ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณาจารย์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา, ผศ.ดร.สมบัติ มั่งมีสุขศิริ, ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์, รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ, ปัญญา นากระโทก, จักรกริช อุดรพิมพ์ และ ตามศักดิ์ วงศ์มุนีวร
สำรวจพบกองหินและแนวหินจำนวนมาก บนเขาพนมรุ้ง-ปลายบัด อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งในทางธรณีวิทยาแปลความหมายว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นกิจกรรมของมนุษย์ในอดีต
กลุ่มหินบะซอลต์ขนาดเท่าลูกฟุตบอลโดยประมาณ ถูกวางจัดเรียงเป็นแนวอย่างไม่เป็นธรรมชาติ บนเขาปลายบัด
ศ.ดร.สันติเปิดเผยว่า ในทางธรณีวิทยา เขาพนมรุ้งและเขาปลายบัด อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เป็นภูเขาไฟยุคควอเทอร์นารี เกิดจากการประทุและไหลหลากของลาวาเมื่อประมาณ 1 ล้านปีก่อน เมื่อลาวาเย็นและแข็งตัวจะกลายเป็น หินบะซอลต์ (basalt) ซึ่งมีทั้งแบบบะซอลต์เนื้อแน่น (massive basalt) บะซอลต์รูพรุน (vesicular basalt) และสคอเรีย (scoria) ที่มีรูพรุนมากคล้ายฟองน้ำ ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของปริมาณก๊าซที่มีอยู่ในมวลลาวาและรายละเอียดทางธรณีวิทยาของการประทุในแต่ละครั้ง
ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth แสดงภูมิลักษณ์ของเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟลูกโดดกลางที่ราบใน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
จากการลงพื้นที่สำรวจทั้งเขาพนมรุ้งและเขาปลายบัด ศ.ดร.สันติ และทีมนักวิจัย พบว่า โดยธรรมชาติจะมีก้อนหินบะซอลต์หลากหลายขนาดกระจายแบบสุ่มอยู่เต็มพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สันติ ตั้งข้อสังเกตว่า ในบางพื้นที่มีก้อนหินบะซอลต์กองรวมกันอยู่อย่างหนาแน่นเป็นชั้น ๆ 2-3 ชั้น กองเป็นเนินขนาดเล็กบ้าง กองสูงท่วมหัวบ้าง และในหลายๆ ที่ยังพบลักษณะคล้ายกับว่ามีการจัดวางและเรียงก้อนบะซอลต์เป็นแนวยาว 150 – 200 เมตร บนเขาปลายบัด หรือเป็นรูปทรงคร่าวๆ ซึ่งไม่เป็นไปตามธรรมชาติทางธรณีวิทยา
นอกจากการกองรวมกันเป็นเนินเป็นแนวแล้ว อีกข้อสังเกตทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจคือ เนินหรือแนวมักจะเกิดจากการกองรวมกันของหินบะซอลต์ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และเป็นขนาดพอเหมาะที่มนุษย์จะสามารถยกย้ายได้ อนุมานว่า ก้อนหินบะซอลต์เหล่านี้อาจจะผ่านการคัดขนาดเป็นอย่างดี เพื่อให้เหมาะที่จะนำมาใช้หรือนำมากอง
นอกจากนี้กลุ่มหินบะซอลต์ในแต่ละเนินหรือแนวหินบะซอลต์ จะประกอบไปด้วยหินบะซอลต์หลากหลายเนื้อหิน ทั้งหินบะซอลต์เนื้อแน่น หินบะซอลต์รูพรุน รวมถึงหินสคอเรีย รวมกันอยู่ในเนินหรือแนวเดียวกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในมิติทางธรณีวิทยา เนื่องจากเนื้อหินจะแตกต่างกันก็ต่อเมื่อเกิดจากการประทุของภูเขาไฟคนละเหตุการณ์ที่ไหลหลากกันคนละพื้นที่
สภาพกองหินในแหล่งโบราณคดี ทางตอนเหนือของรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา (ที่มา : Jordan Luebben) ซึ่งมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับกองหินบะซอลต์ที่พบบนเขาพนมรุ้งและเขาปลายบัด จ.บุรีรัมย์
จากการสืบค้นเชิงเอกสารในแหล่งโบราณคดีพื้นที่อื่น พบว่า มีพฤติกรรมการกองหินเป็นแนวนี้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่นในพื้นที่แหล่งโบราณคดีทางตอนเหนือของรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา
ศ.ดร.สันติสรุปว่า กองหรือแนวหินบะซอลต์ที่พบบนเขาพนมรุ้งและเขาปลายบัดเกิดจากกิจกรรมมนุษย์ที่คัดเลือกหินขนาดพอเหมาะ รวบรวมและเคลื่อนย้ายมาก่อรวมกัน เพื่อการก่อสร้างหรือเพื่อวัตถุประสงค์อะไรบางอย่าง
นอกจากปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเขาปลายบัด 1 และ ปราสาทเขาปลายบัด 2 ที่ตั้งอยู่บนยอดภูเขาแล้ว ภายในป่าพื้นที่โดยรอบบนเขาทั้งสองลูก ยังมีการใช้พื้นที่และอยู่อาศัยของคนในอดีตเช่นกัน
อ่านข่าวอื่นๆ
หนุน WTO รับมือสภาวะโลกร้อน พาณิชย์ถกเวทีเอเปคมะกัน14-15พ.ย.
ปรับเงินเดือน "ข้าราชการ" VS "ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ" รักษาฐานเพื่อไทย