วันนี้ (14 พ.ย.2566) หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อประชุมเอเปค พร้อมระบุว่า ได้นำโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ไปขายไอเดียให้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งนักธุรกิจ เพื่อชักชวนให้มาลงทุน ขณะที่ในพื้นที่ จ.ชุมพร-ระนอง มีกระแสการคัดค้านโครงการดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม
จับกระแสการเมือง: วันที่ 13 พ.ย.2566 โรดโชว์ “แลนด์บริดจ์” นายกฯนิด อย่าลืมฟังเสียงคนชุมพร-ระนอง
นายสามารถ อาจหาญ สมาชิกสมาชิกวิสาหกิจชุมชนจัดการท่องเที่ยวม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง เปิดเผยว่า ที่นี่คือ หาดบางเบน คลองลัดโนด มีวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวตำบลม่วงกลวง ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน
ต่อมาคนในชุมชนรวมกลุ่มกันทำท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เปิดให้นักเที่ยวมาเที่ยวเป็นรายได้ประชาชนในชุมชน ที่สำคัญคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวได้ดูแลธรรมชาติได้ฟื้นฟูไปด้วยในตัว
ป่าชายเลน จ.ระนอง เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากประชาชนช่วยกันปกป้องและปลูกเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่องตลอด 30-40 ปี ที่ผ่านมา
เมื่อป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์ประชาชนก็ได้ประโยชน์สามารถจับสัตว์น้ำได้เพิ่มมากขึ้น ทุกคนเห็นประโยชน์ของป่าเลน แต่รัฐบาลไม่เห็นคุณค่าป่าชายเลนไม่สนใจประชาชนที่อาศัยป่าชายเลนในการประกอบอาชีพ
สัตว์น้ำในพื้นที่ จ.ระนองที่ชาวประมงจับได้ จะตัวโตกว่าสัตว์น้ำในพื้นที่อื่น ๆ เป็นตัวยืนยันได้ว่าธรรมชาติยังมีความอุดมสมบูรณ์
อ่าวเคยแห่งนี้ ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์ เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากสัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ธรรมชาติยังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะเกาะพะยาม ที่อยู่ไม่ไกลจากตรงนี้ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาพักผ่อน มาดำน้ำดูปะการัง สร้างรายได้ให้ประชาชน แต่โครงการแลนด์บริดจ์จะมาทำลาย และส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อประชาชน และระบบนิเวศของบ้านเรา
ด้าน นายสมโชค จุงจาตุรันต์ เกษตรกรใน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร กล่าวว่า พะโต๊ะเป็นแหล่งผลิตผลไม้ทุเรียนที่สำคัญระดับโลก ใคร ๆ ก็มุ่งหน้ามาซื้อทุเรียนพะโต๊ะ เพราะมีเนื้อนุ่มหอมหวานอร่อย ส่งออกไปต่างประเทศได้เกือบทั้งหมด คือผลผลิตมีเท่าไหร่ ลูกค้าซื้อหมด จองซื้อตั้งแต่ทุเรียนยังไม่สุก
"นายกฯ" โรดโชว์ "แลนด์บริดจ์" ในเอเปค คาด 2 ปีเห็นภาพ ร่นเดินทาง 5-10 วัน
คนพะโต๊ะจะทำให้นายกรัฐมนตรี มีความรู้ว่า ทุเรียนพะโต๊ะอร่อยมาก ถูกปากผู้บริโภค นอกจากทุเรียนรสชาติดีแล้ว แหล่งธรรมชาติยังมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ คนพะโต๊ะจะทำให้คนทั่วประเทศรักพะโต๊ะ รักในทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์
นายเศรษฐา ทวีสิน จะเป็นนายกฯ หรือเป็นเซลแมนขายแลนด์บริดจ์ หากอยากจะเป็นเซลแมน แนะนำให้มาเป็นเซลแมนขายทุเรียนให้คนพะโต๊ะจะดีกว่า จะได้เป็นประโยชน์กับคนพะโต๊ะ
นางทม สินสุวรรณ ชาวบ้าน บ้านยางคด ต.ราชกูด อ.เมือง จ.ระนอง ซึ่งเป็นชุมชนหลังท่าเรือโครงการแลนด์บริดจ์ ระบุว่า เราต้องการปกป้องแผ่นดินนี้ไว้ให้กับลูกหลานให้กับเด็ก ๆ พวกเราอยู่ไม่นานแล้วก็ต้องตายแต่ที่นี่เป็นที่ทำกินของพวกเราเป็นที่อยู่อาศัยของลูกหลานเราไม่ใช่คนรวย เราคนจนแต่เรารักถิ่นฐานของเรา เรารักทรัพยากรของเรา ทรัพยากรป่าชายเลนทะเลให้อาหารให้ทุกอย่าง
คนแบบเรา (ชาวไทยพลัดถิ่น) อายุประมาณนี้แล้ว นิคมอุตสาหกรรมเขาไม่จ้างหรอก ที่ผ่านมาคนไทยพลัดถิ่นใช้ชีวิตอย่างไม่ปกติเหมือนคนทั่วไป เพราะจำนวนมากไม่มีบัตรประชาชน เราเกิดประเทศไทยแต่เราไม่มีบัตรประชาชนการเดินทางก็ยากลำบาก ใช้ชีวิตทุกอย่างต้องใช้บัตรแล้วคิดหรือว่าโครงการขนาดยักษ์อย่างนี้เค้าจะเห็นหัวคนไทยพลัดถิ่น
อยากวิงวอนให้รัฐบาลคิดให้ดี คิดเพื่อประชาชน คิดเพื่อธรรมชาติ คิดเผื่อคนรุ่นหลัง เพราะหากผิดพลาดขึ้นมาแล้วจะแก้ไขไม่ได้ ประชาชนก็จะเป็นคนรับกรรม เหมือนที่คนไทยพลัดถิ่นรับกรรมมาหลายชั่วอายุคน เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้ไปโทษ เพียงแต่ไม่อยากให้รัฐบาลนี้ทำผิดพลาดในเรื่องสำคัญ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง