Soft Power ไม่ใช่สิ่งที่จะบังคับให้เกิดขึ้นได้
รัฐบาลคิดค้นนโยบาย OFOS หรือ One Family One Soft Power เกี่ยวกับการสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง โดย 1 ครอบครัว 1 Soft Power จะยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาท/ปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง
Soft Power ในที่นี้อาจเริ่มจาก นักเขียน เชฟ หรือที่รู้จักกันดีก็ได้ Soft Power ที่ประสบความสำเร็จ คือ Soft Power ที่เราไม่ต้องนำไปพูดต่อเอง ฉะนั้นแล้วควรเปลี่ยนจากการบังคับให้สร้าง Soft Power เป็นการสนับสนุน Soft Power ที่ประชาชนสร้างขึ้นมา
ต้องส่งเสริมเอกชนไปพร้อมกับประชาชน
นโยบายของรัฐบาลที่เกิดขึ้นนั้น แทนที่จะบังคับให้ทุกคนคิดค้น Soft Power โดยเริ่มต้นจากศูนย์ แต่ควรพัฒนาหรือสนับสนุนสิ่งที่อาจจะพัฒนาเป็น Soft Power ได้ในอนาคตมากกว่า เช่น ในประเทศมาเลเซียที่พยายามสร้างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่หนังท้องถิ่น (Local) ยังล้าหลังพอสมควร รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่ว่า ถ้าเจ้าของโรงภาพยนตร์แห่งไหนยอมให้หนังท้องถิ่นฉายเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าหนังเรื่องนั้นดี มีคุณภาพ และสนับสนุนเงินให้ผู้ผลิตหนังเรื่องนั้น เพื่อนำไปต่อยอดได้ ในขณะที่เกาหลีก็มีนโยบายสนับสนุนเงินเช่นเดียวกัน โดยจะแจกให้ภาพยนตร์ที่มีจำนวนคนดูเกิน 10 ล้านคน
ไปต่อหรือพอแค่นี้ Soft Power ของรัฐบาล
สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือ "เวลา" มีตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้านให้เห็นว่า การจะทำให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร เช่น ประเทศจีนทำมาตั้งแต่สมัยหูจิ่นเทาเป็นประธานาธิบดี ส่วนประเทศเกาหลีก็ทำตั้งแต่ ยุค ปธน.ลีเมียงบัค
มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมรายได้ของ Hundai ถึงน้อยกว่ารายได้ของภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park ทั้งที่ Hundai เป็นอุตสาหกรรมหนังที่ลงทุนเยอะ และแลกกับมลภาวะมากมาย อีกตัวอย่างหนึ่งคือ รายได้ของ Uniqlo มากกว่า Sony ทั้งที่ Uniqlo ไม่มีโรงงานในประเทศเสียด้วยซ้ำ
Soft Power ชนะ Hard Power
Soft Power คือวัฒนธรรมที่ประเทศไทยมีมานานแล้ว แต่ไม่มีการต่อยอดให้รู้จักในวงกว้าง เช่น ประเทศไทยมีโอเลี้ยง หรือกาแฟยกล้อมานานแล้ว แต่ไม่เป็นที่รู้จัก ต่างจากลาเต้ กาแฟใส่นมที่คนรู้จักกันทั่วโลก ถือเป็นโอกาสดีที่จะนำเรื่องนี้มาหารือและพัฒนาต่อไป นี่คือการเลือกตั้งครั้งแรกที่ทุกพรรคการเมืองออกมาตอบคำถามเรื่อง Soft Power อย่างจริงจัง แม้จะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลนโยบายนี้ควรจะถูกนำมาพัฒนาต่อไป
อ่าน : เคลียร์ให้ชัด "Soft Power" จากต้นตำรับเกาหลีคืออะไร
ความเข้าใจของคนไทยต่อ Soft Power
ถ้าจะให้ 20 ล้านครอบครัวเข้าใจคำว่า Soft Power อย่างแท้จริง ต้องเริ่มจากระบบการศึกษาก่อน เพราะเป็นการฝึกให้ใช้จินตนาการและถามคำถามที่คนอื่นไม่ตั้งคำถาม Walt Disney มีแรกเริ่มมาจากหนังสือ แล้วพัฒนามาเป็นภาพยนตร์และกลายเป็นสตูดิโอ ตามลำดับ รวมถึงการ์ตูนชื่อดังอย่าง One Piece หรือ Doraemon นอกจากนี้ยังรวมถึง Harry Potter ที่อาจได้ค่าลิขสิทธิ์จากหนังสือ แม้ไม่มากนักแต่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายมีออกมาหลากหลาย
จะเห็นได้ว่าหนังสือเปรียบเสมือนสารตั้งต้น ฉะนั้นจุดเริ่มต้นที่ดีคือรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับหนังสือมากกว่านี้
หนังสือในบ้านเราอาภัพ เพราะมีวรรณศิลป์ แต่ถ้าคุณไม่อ่านก็ไม่เห็นคุณค่าของมัน
ในต่างประเทศมีร้านหนังสือหรือสถานที่อ่านหนังสือ เพื่อสนับสนุนให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น เช่น เกาหลี มีห้องสมุด Starfield Library ในขณะที่ร้านหนังสือในจีนมีรัฐบาลให้เงินสนับสนุนทั้งหมด มีการออกแบบที่เป็นจุดเด่น เป็นจุดเช็กอินให้นักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูป ส่วนประเทศไทยที่หนังสือควรจะเป็น Soft Power กลับกลายเป็นสินค้าที่ต้องติดฉลากวิธีใช้
ตราบใดที่เรายังมองว่าหนังสือคือสินค้า จะพัฒนาต่อไปได้ยาก การผลิตหนังสือเล่มหนึ่งต้องรับผิดชอบ พ.ร.บ.การพิมพ์, กฎหมายอาญา, กฎหมายความสงบ และ กฎหมายเด็ก เป็นต้น ทั้งที่ความจริงแล้ว "หนังสือคือวัฒนธรรม"
ต่อยอด Soft Power วรรณศิลป์สู่ทัศนศิลป์
ประเทศเกาหลีถือว่าตีโจทย์แตก เพราะมองว่าคนที่เขียนบทภาพยนตร์แตกต่างจากคนที่เขียนบทละคร เพราะบทละครมีความยาวมากกว่า จะเขียนยาวอย่างไรก็ได้ แต่บทภาพยนตร์ที่มีเวลาจำกัด ต้องเล่าเรื่องจากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดจบให้ได้ ฉะนั้นจะมีนักอ่านบทภาพยนตร์ และถ้ามองแล้วว่ามีคุณภาพ รัฐบาลจะสนับสนุนเงินให้นักวาดการ์ตูน วาดออกมาเป็นลายเส้น และนำไปวางไว้ในที่ต่างๆ เพราะมองว่าลายเส้นเข้าใจง่ายกว่าตัวหนังสือ โดยมีความน่าสนใจและสามารถนำไปต่อยอดและออกสู่สายตาคนได้มากกว่า
Soft Power โจทย์ใหญ่รัฐบาล
Soft Power เป็นเรื่องของจังหวะ ฉะนั้นนโยบายของรัฐบาลที่จะทำ Quick Win จึงไม่ค่อยเป็น Soft Power โดยสภาพจังหวะ ซึ่ง Soft Power จะไม่บอกตรงๆ หรือทำอะไรที่โจ่งแจ้งเกินเพื่อไม่ให้ถูกต่อต้าน เช่น สหรัฐฯ ส่ง McDonald’s ไปตั้งอยู่ในมอสโกเป็นสาขาแรก โดยขอตั้งเป็นของขวัญในโอกาสที่มาเยือนมอสโก มีการส่งวัตถุดิบนำเข้าทั้งหมด มีต้นทุนมหาศาล รวมทั้งเลือกเวลาการเปิดทำการในช่วงที่หนาวที่สุด คนโซเวียตสนใจและมาเข้าคิวตั้งแต่ตี 4 ทั้งที่ร้านเปิด 10 โมง จนเกิดเป็น Viral ขึ้นมา
Soft Power ของรัฐบาลเกี่ยวข้องกับ THACCA ย่อมาจาก Thailand Creative Content Agency จะเป็นตัวกำหนดบทบาท รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรมต้องทำงานอย่างจริงจัง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ในเยอรมนี กระทรวงวัฒนธรรมสนับสนุนให้มีโรงละครโอเปรากว่า 80 โรง รวมทั้ง ฝรั่งเศส ที่ยกให้ รมต.วัฒนธรรม สำคัญเป็นอันดับ 3 จะเห็นได้ว่าประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับกระทรวงวัฒนธรรมมาก การที่รัฐบาลมีนโยบายเป็นนามธรรมถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพียงแต่การทำนามธรรมให้เกิดเป็นรูปธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และสิ่งสำคัญที่สุดคือ
เวลาดำเนินการ อย่ารีบตั้งธง หรือตั้งความหวังว่านโยบายนี้ต้องสำเร็จให้เร็วที่สุด เพราะการจะทำให้ Soft Power เป็นที่รู้จักในวงกว้างต้องใช้เวลา