กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ได้ปล่อยภาพสีในช่วงคลื่นแสงอัลตราไวโอเลตของดาวพฤหัสฯ ซึ่งถ่ายระหว่างที่โลกและดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกันหรือ “Opposition” และเป็นจุดที่โลกและดาวพฤหัสฯ อยู่ใกล้กันมากที่สุดนั่นเอง
ภายในภาพนั้นปรากฏจุดแดงยักษ์บนดาวพฤหัสบดีหรือ “Great Red Spot” ซึ่งเป็นพายุขนาดมหึมา ในภาพทั่วไปที่เราเคยเห็นกัน เราจะเห็นจุด ๆ นี้เป็นสีแดง ดังชื่อ “จุดแดงยักษ์” แต่ในภาพช่วงคลื่นแสงยูวีนั้น จุดนี้กลับมีสีน้ำเงินเข้ม เนื่องจากบรรยากาศชั้นบนของดาวพฤหัสดูดซับสีอื่นไปหมด
ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยระบบพายุบนดาวพฤหัสบดี โดยนักวิจัยใช้ข้อมูลจากกล้องฯ ฮับเบิล สร้างโมเดลสามมิติของเมฆในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสฯ นอกจากนี้ ความสามารถในการสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นแสงยูวีของกล้องฯ ฮับเบิล ยังสามารถนำมาศึกษาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น การสำรวจแสงจากดาวฤกษ์ที่มีอายุน้อยและมีความร้อนสูง การสำรวจความหนาแน่น ส่วนประกอบ และอุณหภูมิของวัตถุระหว่างดวงดาว และการสำรวจพัฒนาการของกาแล็กซี เป็นต้น
ในภาพดาวพฤหัสฯ ที่เราเห็นนั้น เป็นภาพที่เรียกว่า “False-Color” หรือภาพหลอกตา นั่นเป็นเพราะว่าแสงยูวีเป็นแสงที่ตาของมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะฉะนั้นเราจึงจะต้องใช้แสงที่เรามองเห็นได้แทนที่แสงในช่วงคลื่นยูวีแทน
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech