ด้วยระนาบการโคจรของโลกและดาวอังคารที่เกือบจะขนานกันและอยู่ในระนาบเดียวกัน ดังนั้น ในทุก ๆ 2 ปีจะมีช่วงระยะเวลาหนึ่งที่โลกและดาวอังคารจะอยู่ตรงข้ามกันพอดีโดยมีดวงอาทิตย์มาคั่นกลางระหว่างดาวเคราะห์ทั้งสองดวง ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “Mars Solar Conjunction”
ระหว่างการเกิด “Mars Solar Conjunction” การสื่อสารระหว่างโลกกับยานอวกาศและยานภาคพื้นบนดาวอังคารจะหยุดลงชั่วคราว เรียกช่วงระยะนี้ว่า “Command Moratorium” ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าทำไมจึงต้องมี “Command Moratorium” และมีผลอย่างไรต่อการสำรวจดาวอังคาร
Mars Solar Conjunction
ปรากฏการณ์ “Mars Solar Conjunction” นั้นจะเกิดขึ้นทุก ๆ 2 ปี เมื่อโลกที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เร็วกว่าดาวอังคาร โคจรไปอยู่ตรงข้ามกับดาวอังคารโดยมีดวงอาทิตย์มาคั่นกลางระหว่างดาวเคราะห์ทั้งสองดวง ในครั้งนี้ Mars Solar Conjunction จะเกิดที่ช่วงวันที่ 12 พฤศจิกายน ไปจนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน กินระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
ระหว่างการเกิด Mars Solar Conjunction นั้น โลกจะมองไม่เห็นดาวอังคาร ไม่ว่าจะด้วยความสว่างของดวงอาทิตย์ที่จะกลบกลืนแสงจากดาวอังคารหรือการที่ดาวอังคารนั้นอยู่หลังดวงอาทิตย์ นั่นหมายความว่าโลกจะไม่สามารถสังเกตการณ์ดาวอังคารด้วยกล้องโทรทรรศน์ได้ นอกจากนี้เอง Mars Solar Conjunction ยังมีผลต่อการสื่อสารระหว่างโลกและดาวอังคารอีกด้วย
Command Moratorium
ระหว่างที่เกิด Mars Solar Conjunction นั้น สัญญาณการสื่อสารจะไม่สามารถถูกส่งไปยังดาวอังคารได้เนื่องจากมีดวงอาทิตย์บังอยู่ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเกิด Mars Solar Conjunction จริง ๆ นั้น หน่วยงานอวกาศอย่างองค์การนาซา (NASA) จะหยุดการสื่อสารไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้เพราะว่าสัญญาณใด ๆ ที่เดินทางใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไปอาจถูกรบกวนและทำให้คำสั่งที่ส่งไปนั้นเสียหายได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีหากยานอวกาศบนดาวอังคารได้รับสัญญาณที่เสียหายไป
เพอร์เซเวียแรนซ์บนพื้นผิวดาวอังคารในช่วงที่พักการสื่อสารกับโลก
อย่างไรก็ตาม การที่โลกไม่สื่อสารกับยานบนดาวอังคารนั้นไม่ได้หมายความยานบนดาวอังคารจะอยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไร ก่อนที่จะเริ่มช่วง Command Moratorium ศูนย์ควบคุมจะส่งคำสั่งหรือส่งแผนการทำงานอัตโนมัติให้กับยานแต่ละยานทำเมื่อการสื่อสารถูกตัด โดยงานเหล่านี้มักจะเป็นงานสำรวจที่ไม่ต้องพึ่งการสื่อสารจากโลก เช่น การตรวจวัดค่าสภาพแวดล้อมต่าง ๆ การถ่ายรูป และอื่น ๆ
ในแผนการทำงานนี้ก็จะมีแผนสำหรับการเริ่มการสื่อสารใหม่กับโลกด้วยว่าเมื่อไหร่จึงจะเริ่มพยายามติดต่อกลับไปยังโลกหลัง Command Moratorium และหากติดต่อกับโลกไม่ได้จะต้องทำอย่างไร
ยานอวกาศที่กำลังโคจรรอบดาวอังคารในปัจจุบัน
ระหว่างการเกิด Command Moratorium นั้น วิศวกรจะต้องตั้งค่าการทำงานของยานอวกาศอย่างระมัดระวังเนื่องจากยานอวกาศอาจทำอะไรแปลก ๆ โดยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ยกตัวอย่างเช่นยานที่มีเสาสัญญาณติดตามดาวเทียมโคจรรอบโลกนั้นเมื่อถูกดวงอาทิตย์บังแล้วอาจจะไปติดตามดวงอาทิตย์แทนที่จะติดตามโลกหลัง Mars Solar Conjunction ได้เพราะว่าดวงอาทิตย์นั้นเป็นแหล่งเกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เข้มข้นกว่าโลกมาก จึงจะต้องวางแผนให้ดีว่าเมื่อใดยานอวกาศถึงจะเริ่มการสื่อสารกับโลกอีกครั้ง
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech