วันนี้ (20 พ.ย.2566) พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผอ.กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โลกร้อนทำให้วงจรชีวิตของยุงเติบโต เร็วมากขึ้น ปัจจัยการเกิดยุง เกี่ยวข้องกับทางอุตุนิยมวิทยา ทั้ง ความชื้นสัมพัทธ์ ,ปริมาณน้ำฝน และอุณหภูมิ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ทำให้จำนวนยุงเพิ่มมากขึ้น บางประเทศที่เคยหนาวก็อุ่นขึ้น แต่ประเทศไหนที่ร้อนอยู่แล้ว ยุงก็ไม่สามารถวางไข่ได้
ส่วนประเทศไทยปีนี้ เผชิญกับฝนหลงฤดู ทำให้เกิดแหล่งน้ำขังตามบ้านเรือน เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดน้ำขัง ตามกระถางต้นไม้ ,ขวดพลาสติก เพราะ สามารถขจัดได้ทั้งโรคไข้เลือดออก ,โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
ห่วงป่วยไข้เลือดออก-ซิกาเพิ่ม
พญ.ฉันทนา กล่าวว่า สำหรับไข้เลือดออกปีนี้พบมากขึ้น แต่โรคที่มาจากยุงและน่าเป็นห่วงที่สุด คือ การติดเชื้อไวรัสซิกา เพราะจะทำให้หญิงตั้งครรภ์ได้เชื้อ และเด็กเกิดมาพร้อมกับความพิการ หัวเล็ก การป้องกันที่ดีทั้งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทายากันยุงแล้ว ดังนั้นต้องมีการฝากครรภ์ และสูตินรีแพทย์ต้องมีการอัลตราซาวด์ขนาดของศีรษะทารกในครรภ์เสมอ เพื่อดูว่าหยุดการเจริญเติบโตหรือไม่ เพื่อจะได้ให้ข้อมูลกับพ่อแม่เด็กว่า สมควรยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ
ไวรัสเดงกีสายพันธุ์ 2 อันตราย
สำหรับข้อมูล สถานการณ์โรคติดต่อนำโดยแมลง รายงานตั้งแต่ 1 ม.ค. – 15 พ.ย. 2566 พบ โรคไข้เลือดออก มี ผู้ป่วยสะสม 132,126 คน อัตราป่วย 199.79 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา 3.4 เท่า โดย 5 จังหวัด ที่มีอัตราป่วยสูงในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด ได้แก่ เพชรบุรี(อำเภอเมือง , อำเภอบ้านแหลม) ชลบุรี(อำเภอศรีราชา, อำเภอเมือง) อุทัยธานี(อำเภอเมือง ,อำเภอบ้านไร่) สมุทรสงคราม (อำเภอเมือง ,อำเภออัมพวา ) และสงขลา (อำเภอหาดใหญ่ ,อำเภอเมือง ,อำเภอสะเดา) ตามลำดับ และมีการระบาดในอำเภอระบาด 705 อำเภอ ใน 77 จังหวัด มี เสียชีวิต 155 คน จาก 57 จังหวัด อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.12 โดยอัตราป่วยตายสูงสุดในกลุ่มอายุ 25 - 34 ปี โดยสายพันธุ์ไวรัสเดงกี ที่พบมากสุด คือ DENV-2 รองลงมา คือ DENV-1 , DENV-3 และ DENV-4
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าไข้เลือดออก อาจมีแนวโน้มระบาดข้ามปี ดังนั้น ต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มข้น กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย สื่อสารความเสี่ยง เพื่อลดความรุนแรงของการระบาดและจำนวนผู้เสียชีวิต
ส่วนโรคไข้มาลาเรีย จากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ของโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 17 พ.ย. 2566 พบผู้ป่วยสะสม 15,386 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ที่แล้ว 196 คน โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุดที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี มีผู้เสียชีวิตสะสม 6 คน ทั้งนี้จากการประเมินความเสี่ยง แนวโน้มผู้ป่วยยังคงทรงตัว และสูงกว่าปี 2565
ชิคุนกุนยา - ซิกา ยังระบาดหนัก
ส่วนโรคไข้ปวดข้อยุงลาย จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 พฤศจิกายน 2566 พบผู้ป่วยสะสม 1,198 คน รายงานเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 27 คน อัตราป่วย 1.81 ต่อประชากรแสนคน จาก 51 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต
โรคติดเชื้อไวรัสซิกา จากการเก็บข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 พฤศจิกายน 2566 มีผู้ป่วยสะสม 615 คน อัตราป่วย 0.93 ต่อประชากรแสนคน จาก 32 จังหวัด โดยในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด พบผู้ป่วยสูงที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร 23 คน และสระบุรี 19 คน
จากการตรวจสอบยืนยันหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกา 24 คน พบว่า ทารกศีรษะเล็กยืนยันติดเชื้อไวรัสซิกา 13 ราย ทั้งนี้แม้ว่าแนวโน้มของโรคจะลดลง แต่ก็พบการติดเชื้อในบางจังหวัด ดังนั้นต้องเร่งกำจัดแหลางเพาะพันธุ์ยุง
เตือนนักเดินป่า ระวัง "สครับไทฟัส"
โรคสครับไทฟัส จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 พฤศจิกายน 2566 พบผู้ป่วยสะสม 6,903 คน ใน 70 จังหวัด อัตราป่วย 10.43 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 6 คน อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.09 จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน , ระนอง , เชียงราย, ตาก และเชียงใหม่
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคสครับไทฟัสมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมา และมีบางเดือนสูงเกินค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง ในสัปดาห์นี้ไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดใหม่ แต่พบการระบาดสูงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะอำเภอกัลยาณิวัฒนา สะเมิง และแม่แจ่ม ตามลำดับ ควรสื่อสารความเสี่ยงและการป้องกันตนเองแก่ประชาชน