ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่ ทำไทยขาดดุลการค้าดิจิทัล "มหาศาล"

เศรษฐกิจ
7 ธ.ค. 66
17:03
892
Logo Thai PBS
แพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่ ทำไทยขาดดุลการค้าดิจิทัล "มหาศาล"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เจ้าพ่อ E-Commerce ตั้งข้อสังเกต รัฐบาลไทยกำลังเสียดุลการค้าดิจิทัล ในธุรกิจ Global online platform หรือ แพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลกกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปีหรือไม่ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลเข้มงวดการจัดเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติให้มากกว่าเดิม

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com โพสต์ข้อมูลในเฟซบุ๊ก Pawoot Pom Pongvitayapanu ตั้งข้อสังเกตถึง บริษัท TikTok ประเทศไทย ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลกว่า 

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com

บริษัท TikTok ประเทศไทย ใช้ชื่อบริษัทว่า "บริษัท ติ๊กต๊อก เทคโนโลยีส์ จำกัด" ทุนจดทะเบียน 210 ล้านบาท (เปิดมา 2 ปีกว่า) ปีที่แล้วมีรายได้ 786 ล้านบาท มีกำไร 46.9 ล้านบาท (สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ประกาศว่า คนไทยจ่ายเงิน TikTok Ads 840 ล้านบาท) เข้าใจว่าเป็นบริษัทมีการจ้างคนทำงาน และจ่ายเงินเดือนจากบริษัทนี้ ข้อสังเกตของ เจ้าพ่อ E-Commerce ไอคอนวงการธุรกิจออนไลน์ของไทย คือ

TikTok จะนำรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย บันทึกลงประเทศไทยหรือไม่

ยกเคส ไลน์-เฟซบุ๊ก-กูเกิล

ภาวุธยกตัวอย่าง บริษัทข้ามชาติจากฝั่งเอเชียและตะวันตกมาเปรียบเทียบกัน คือ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ที่เมื่อปี 2565 บันทึกรายได้ในประเทศไทย 6,396 ล้านบาท กำไร 268 ล้านบาท เรียกว่า รายได้เกิดในประเทศเท่าไหร่ ก็บันทึกลงในประเทศเท่านั้น โดย ภาวุธมองว่าเป็นการกระทำที่โปร่งใสและน่ายกย่อง 

ในขณะที่บริษัทข้ามชาติที่ทำมาหากินกับคนไทย แล้วเอาเงินขนออกไปนอกประเทศ บันทึกรายได้ในประเทศนิดเดียว เช่น Facebook (Thailand) มีรายได้ปี 65 จำนวน 463 ล้านบาท ได้กำไร 5 ล้านบาท แต่เมื่อเช็กข้อมูลจาก DAAT ระบุว่าคนไทยจ่ายโฆษณากับ Facebook มากถึง 8,691 ล้านบาท

แต่ไฉน รายได้ที่ลงมาในไทยมีแค่ จึ๋งเดียวเอง 

หรือ Google (Thailand) ที่ปีที่แล้วมีรายได้ 1,336 ล้านบาท มีกำไร 59 ล้านบาท แต่ทาง DAAT บอกว่าคนไทยจ่ายเงิน Youtube และ Google รวมกันกว่า 5,435 ล้านบาท

อ้าว มันหายไปไหนอีก 4 พันกว่าล้าน

ทั้ง 2 บริษัทนี้ สร้างรายได้จากคนไทยจริงๆ รวมๆ กันนับหมื่นล้าน แต่โยกรายได้ออกไป เหลือนิดเดียว เสียภาษีให้ประเทศไทยนิดเดียว

พร้อมทิ้งท้ายว่า ต้องวัดความใจถึงของ TikTok (Thailand) แล้วว่าจะใจถึง-จริงใจกับคนไทยและประเทศไทย แบบคนเอเซียด้วยกัน หรือ จะทำตัวเป็นเหมือนบริษัทจากโลกตะวันตกที่ขนเงินออกไปนอกประเทศ

รัฐรู้มานานแต่ไม่เคยเอาจริง

เจ้าพ่อ E-Commerce ระบุว่ารัฐไทยรู้อยู่นานแล้ว ผมกับคนออนไลน์เข้าไปคุยกับสรรพากรมาหลายปีแล้ว จนผลักดันออกมาเป็นกฎหมาย E-Service Tax ที่เก็บภาษี VAT กับบริษัทต่างชาติที่สร้างรายได้กับคนไทย แต่เก็บได้แค่ร้อยละ 7 เท่านั้น

แต่ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

พร้อมกับชี้ให้เห็นตัวเลขที่แท้จริงว่า คนไทยจ่ายเงินให้บริษัทออนไลน์ต่างชาติรวมๆ กันประมาณเองว่าปีนึงประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่มากกว่าไทยส่งออกข้าวทั้งปีอีก

นี่คือ "การขาดดุลการค้าดิจิทัล" ที่รัฐบาลไม่เคยนำตัวเลขนี้มารวมกับตัวเลขการขาดดุลการค้าของประเทศเลย และพยายามพูดเรื่องนี้กับภาครัฐมาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนออกมาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้เลย

คนไทยขาดดุลการค้าดิจิทัลปีละเท่าไร ?

ข้อมูลจาก Pawoot Personal Blog & Think Tank เริ่มต้นตั้งคำถามย้อนกลับไปหาผู้อ่านว่า  

เราจ่ายเงินให้กับบริการออนไลน์ของบริษัทต่างประเทศเดือนหนึ่งกี่บาท​ ทั้ง Apple iCloud, Google, Youtube, Netflix, Spotify และอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมยกค่าใช้จ่ายเดือนละ 2,000 บาท หรือปีละ 24,000 บาทของตัวเองเป็นตัวอย่างเพิ่ม 

ถ้ามีคนไทยอย่างผมประมาณ 10 ล้านคน คนไทยจะจ่ายค่าบริการออนไลน์บริษัทต่างประเทศ ปีนึง 200,000 กว่าล้านบาทเลยทีเดียว!

แน่นอนว่า ผู้ให้บริการต่างก็พยายามหารายได้จากการเก็บค่าบริการต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเราปล่อยให้เป็นไปมากกว่านี้ นั่นหมายถึงคนไทยจะจ่ายเงินออกนอกประเทศโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

การเสียดุลการค้าของไทยกับต่างประเทศมหาศาลมาก

ถ้าเทียบดูแล้วปีนึงคนไทยจ่ายเงินให้กับบริษัทบริการออนไลน์ต่างประเทศสูงถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ามูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปปี 64 ที่มีเพียงแค่ 172,750 ล้านบาท หรือ เทียบกับการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 มีเพียง 107,758 ล้านบาท "ขายข้าวทั้งปี ยังไม่ได้เท่ากับคนไทยขาดดุลดิจิทัล" 

ภาวุธให้ข้อเสนอแนะว่า รัฐควรเพิ่มการขาดดุลสินค้าดิจิทัล เข้าไปในการคำนวนเชิงเศรษฐกิจของประเทศ เพราะไทยกำลังสูญเสียเงินมหาศาลให้กับผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศ และจะเป็นจุดที่ทำให้นักธุรกิจไทยได้คิดว่า ทำไมถึงปล่อยให้เงินจำนวนมหาศาลนี้ หลุดออกไปให้ต่างประเทศ ? จะสามารถสร้างบริการลักษณะเดียวกันได้ไหม ? หรือควรจะทำอย่างไรต่อ ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง