วันนี้ (12 ธ.ค.2566) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 กลับมาอีกครั้งในช่วงฤดูหนาวและมีระดับเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและเด็กที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ การสูดเอาฝุ่นพิษเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการแสบจมูก น้ำมูกไหล หายใจไม่สะดวก ไอ มีเสมหะ และเจ็บคอ มีผื่นคันบริเวณที่สัมผัสฝุ่น หากได้รับเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้มีความผิดปกติด้านสติปัญญาและพัฒนาการ ทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อง่ายขึ้น ทำให้โรคหืด ภูมิแพ้กำเริบได้
หากได้รับ PM 2.5 ในปริมาณมาก เป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด นอกจากนี้ฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมากจนสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือด และกระจายไปทั่วร่างกาย อาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในหลอดเลือด ซึ่งนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ และภาวะหลอดเลือดหดตัวได้
นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการพาเด็ก ๆไปทำกิจกรรมนอกบ้านหรือไปในบริเวณที่มีค่าฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ขณะอยู่ในบ้านควรปิดประตูหน้าต่างให้สนิท และเปิดเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองแบบ HEPA ซึ่งช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ลงได้
กรณีที่มีความจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านหรือไปในบริเวณที่มีปริมาณฝุ่นเกินมาตรฐานต้องสวมหน้ากากชนิด N95 ในทารกหรือเด็กเล็กไม่แนะนำให้เดินทางออกนอกบ้าน ควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำจะช่วยให้หายใจได้โล่งขึ้น หมั่นเช็ดทำความสะอาดบ้านและเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ด้วยผ้าชุบน้ำบิดหมาด เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กภายในบ้าน หากพบว่าลูกมีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือมีผื่นคันขึ้นตามร่างกายที่ผิดปกติให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : วันนี้ ฝุ่น PM 2.5 กทม.พบเกินมาตรฐาน 66 พื้นที่ เริ่มมีผลต่อสุขภาพ