วันนี้ (13 ธ.ค.2566) กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดพิธีร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแก้ปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) โดยร่วมกับ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
นายกิตติ เชาวน์ดี เลขานุการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอันมาก ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยว และเป็นจุดดึงดูดให้บุคคลที่ไม่ใช่คนไทย เข้ามาแอบแฝงประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง หรือเรียกว่า นอมินี
ปัจจุบันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ยังพบการกระทำที่ผิดกฎหมายของผู้ประกอบการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มีการแย่งชิงนักท่องเที่ยวระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง การตั้งราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องและไม่สามารถดำเนินการตามที่ตกลงไว้กับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งเป็นต้นเหตุของสภาพปัญหาต่าง ๆ ตามมา
การบังคับให้ซื้อสินค้าที่ระลึกหรือบังคับให้จำเป็นต้องซื้อรายการนำเที่ยวเสริม (Optional Tour) ที่ราคาสูงเกินจริง และปัญหาอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอย่างมาก
นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ระบุว่า กรมการท่องเที่ยวจะดำเนินการตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง ใช้ชื่อย่อว่า “ศปต.” ซึ่งตั้งอยู่ที่กรมการท่องเที่ยว และจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน
ภายใต้กรอบความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการจดทะเบียนและการอนุญาตประกอบธุรกิจ ด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล ด้านการกำกับดูแลและป้องปราม และ ด้านการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
สำหรับแนวทางการตรวจสอบธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่เข้าข่ายมีนอมินี เบื้องต้นจะเน้นการตรวจสอบบริษัทที่มีความเสี่ยง เช่น มีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติ
ต้องตรวจสอบว่า ถือหุ้นไม่เกินสัดส่วนที่กำหนด 49.99 % หรือไม่ ถ้าไม่เกินต้องดูต่อไปว่า มีอำนาจการบริหารจัดการภายในบริษัท และมีสิทธิในการออกเสียงมากกว่าผู้ถือหุ้นคนไทยที่มีสัดส่วนการถือหุ้น 51 % หรือไม่ ถ้ามีมากกว่าก็อาจเข้าข่ายเป็นนอมินี
การแก้ปัญหานอมินีจะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า เตรียมลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบแหล่งท่องเที่ยวหลัก เช่น เชียงใหม่, ภูเก็ต, กรุงเทพฯ, พัทยา
จากการตรวจสอบผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปี 2565 กว่า 15,000 ราย และมี 400 ราย ที่เป็นธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว อยู่ในเกณฑ์น่าสงสัยที่ต้องตรวจสอบเชิงลึก ทั้งสัดส่วนผู้ถือหุ้น งบการเงิน
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยว ข้อมูล ณ วันที่ 11 ธ.ค.2566 พบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดทั้งสัปดาห์ (4-10 ธ.ค.2566) จำนวนทั้งสิ้น 655,653 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 61,619 คน คิดเป็นร้อยละ 10.37
คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 93,665 คน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา ทั้งสิ้น 25,736,865 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 1,098,082 ล้านบาท
สัปดาห์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากจีน เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุดจำนวน 100,704 คน รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย (94,513 คน) รัสเซีย (42,166 คน) เกาหลีใต้ (40,572 คน) และอินเดีย (39,053 คน)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมศิลป์ ลุ้นสหรัฐฯ ส่ง "สมบัติศรีเทพ" คืนไทย
สนค.ระบุขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ร้อยละ 2.37 กระทบเงินเฟ้อไม่มาก