แม้จะเป็นเรื่องทั่วไปสำหรับชายเกาหลีใต้กับการเข้าไปรับใช้ชาติจนกลายเป็นธรรมเนียมของทั้งแฟนคลับ K-POP ที่จะบอกลากันชั่วคราวและส่งกำลังใจให้กันอย่างห่างๆ เป็นเวลา 2 ปี ขณะที่ศิลปินและต้นสังกัดก็จะเตรียมเพลง อัลบั้ม คอนเทนต์อื่นๆ ไว้ให้แฟนคลับได้หายคิดถึง หรือแม้แต่ศิลปินบางวงที่จะทยอยกันเข้ากรมเพื่อออกผลงานเดี่ยวมาให้แฟนๆ ได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่บางวงก็เลือกเข้ากรมพร้อมกันเพื่อจะได้กลับมามอบความสุขให้แฟนๆ อย่างพร้อมเพรียง
อย่างไรก็ตาม BTS วงบอยแบนด์จากค่ายตึกเช่าที่เดบิวต์ในปี 2013 ได้ทลายกำแพงวัฒนธรรมและภาษาก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินแถวหน้าระดับโลกการันตีด้วยผลงานคุณภาพที่ติดท็อปชาร์ตหลายประเทศทั่วโลกและได้รับรางวัลดนตรีจากเวทีใหญ่มากมาย ตามการศึกษาของ Harvard Business Review พบว่า การประมาณการรายได้บางส่วนของวง BTS คิดเป็นมูลค่าถึง 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของ GDP ของเกาหลีใต้ ซึ่ง GDP ของเกาหลีใต้ในปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 1.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
นั่นหมายความว่า BTS เพียงวงเดียวช่วยสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ประมาณร้อยละ 3.33
ความโด่งดังและมูลค่าทางเศรษฐกิจเหล่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในปี 2020 รัฐสภาเกาหลีใต้จะส่งร่างกฎหมายเพื่อยกเว้นการรับราชการทหารของศิลปิน K-POP ระดับโลก หรือที่มีคนนิยามว่า "BTS LAW" เข้าที่ประชุม เพราะการหายไป 2 ปีของศิลปินดังเหล่านี้เท่ากับการหายไปของรายได้ทางเศรษฐกิจเกือบหมื่นล้านดอลลาร์ และก่อนหน้านี้มีการยกเว้นการเข้ากรมทหารให้สำหรับนักกีฬาและนักดนตรีคลาสสิกที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศผ่านการได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันระดับสากล
BTS ในเวที UN
อ.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายปรากฏการณ์ของ BTS law ว่า รัฐสภาเกาหลีใต้ได้เสนอให้ยกเว้นการเข้ารับราชการทหารกับศิลปิน K-POP แต่ต้องพิจารณาเป็นกรณี ซึ่งแม้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่คาดว่าร่างกฎหมายนี้ไม่น่าจะผ่านรัฐสภา สาเหตุส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากแนวคิดอนุรักษ์นิยมของ ปธน. ยุน ซ็อก-ย็อล ที่ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดเกาหลีใต้ ย่อมมีมุมมองต่อการบังคับใช้กฎหมายในประเทศอย่างเข้มงวด
กฎหมายคือสิ่งที่สร้างความยุติธรรมให้คนและทำให้สังคมเดินต่อไปได้ กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์และอยู่เหนืออภิสิทธิ์ของบุคคล
BTS ในทำเนียบขาว
แต่อาจจะถูกปรับแก้เป็นการผ่อนผัน จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ชายเกาหลีต้องเข้ารับราชการตั้งแต่ 18-28 ปี เป็น 18-30 ปี แทน ซึ่ง Jin พี่ใหญ่ของวง BTS ที่เข้ากรมเป็นคนแรกก็เป็นไอดอลคนแรกที่ได้รับการผ่อนผันตามเกณฑ์นี้ อ.ไพบูลย์ ยังวิเคราะห์เพิ่มเติมในมิติต่างๆ ร่วมอีกว่า
ในเชิงประชากรศาสตร์การผ่อนผันยังคงเป็นไปได้ แต่หากจะให้ยกเว้นเลยคงไม่ได้ เพราะเกาหลีใต้ยังคงเผชิญกับภาวะการเกิดต่ำ ประกอบกับความตึงเครียดในสงครามเกาหลีเหนือที่ยังปะทุต่อเนื่อง
ป้ายที่ ARMY ทำส่ง JIn เข้ากรมทหาร
ส่วนความเห็นของประชาชนในประเทศเกาหลีบางส่วนก็มองว่า ชายเกาหลีน่าจะสามารถรับใช้ชาติด้วยวิธีอื่นได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็มองว่าเป็นหน้าที่ของลูกผู้ชายทุกคนต้องทำ
แม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง แต่ศิลปินวง BTS เอง หรือแม้แต่เหล่าแฟนคลับส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เรียกร้องที่จะขอผ่อนผันหรือยกเว้นการเข้ากรมทหารแต่อย่างใด และการเข้ากรมเพื่อรับใช้ชาติครบทั้ง 7 คนในเดือนนี้ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า นอกจากการทำตามความฝันในการเป็นนักร้อง BTS ก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ลูกผู้ชายอย่างเต็มกำลัง
ป้ายที่เหล่า ARMY ทำเพื่อสนับสนุน BTS
หนึ่งใน ARMY ไทย กล่าวว่า นอกจากการร่วมส่งกำลังใจผ่านการติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์หรือในโซเชียลต่างๆ แล้ว เหล่าแฟนคลับก็พร้อมจะนับถอยหลังรอการกลับมาของศิลปินคนโปรดอย่างใกล้ชิด รวมทั้งช่วยกันอัปเดตข้อมูลข่าวสารในกรมทหารของหนุ่มๆ ทั้ง 7 คนให้ได้คลายความคิดถึงกัน และยืนยันว่า พร้อมจะรอทั้ง 7 คนคัมแบ็กอีกครั้งในปี 2025 ส่วนประเด็นเรื่องกฎหมายนั้นก็เห็นด้วยที่จะให้ศิลปินทุกคนควรอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
ARMY ชาวออสเตรเลียและ Jimin BTS
สุดท้ายแล้ว แม้ว่าขณะนี้ BTS law ยังเป็นเพียงร่างกฎหมายอยู่ แต่ในอนาคตหากกฎหมายฉบับนี้คลอดออกมา ก็มีความเป็นไปได้ที่กฎเกณฑ์ต่างๆ จะชัดเจนและเหมาะสม โดยหากมองด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยกำหนดเป็นตัวเลขได้ชัดเจน ก็อาจจะทำให้ศิลปิน K-POP ระดับโลกบางส่วน ได้รับการผ่อนผันการเข้ากรมไปจนถึงอายุ 30 ปีได้ เพราะรัฐบาลมองที่ผลงานและประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ได้มองที่ตัวบุคคลเป็นหลัก
ARMY ชาวออสเตรเลียและ BTS
อ้างอิงข้อมูล :
https://www.entrepreneur.com/business-news/south-korea-could-lose-billions-during-bts-military-service/437605
https://www.hbs.edu/faculty/Pages/item.aspx?num=58273