วันนี้ (19 ธ.ค.2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในปี 2567 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ รวมทั้งเสนอการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลภาวะทางอากาศที่ยั่งยืน เนื่องจาก PM 2.5 มีความรุนแรงขึ้น
โดยเสนอให้จัดทำมาตรการเสนอกลไกในการแก้ไขในระดับชาติ ในระดับพื้นที่เน้นมาตรการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 17 จังหวัดภาคเหนือเป็นหลัก รวมทั้ง กทม.-ปริมณฑล
โดยกำหนดให้ลดการเผาป่าให้ได้ 50% โดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมายอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ รวมไปถึงพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนพื้นที่รองตั้งเป้าให้ลดการเผาป่าลง 20% และพื้นที่เกษตรกรรมนอกพื้นที่ 17 จังหวัดให้ลดลง 10 %
สำหรับการกำหนด KPI ของพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจะต้องมีค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 จะต้องลดลง 40% กทม.ลดลง 20% ภาคอีสานต้องลดลง 10% และภาคกลางอีก 20%
ในขณะที่จำนวนวันที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานภาคเหนือต้องลดลง 30% กทม.5 % อีสาน 5% กลาง 10% โดยแต่ละจังหวัด ต้องตั้งศูนย์ปฏิบัติการโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีชุดปฏิบัติการตั้งแต่ระดับอำเภอถึงระดับตำบล หากต้องการเผาจะต้องมีการขออนุญาต เพื่อจัดลำดับไม่ให้เกิดการเผาในช่วงเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ยังส่งเสริมภาคเอกชนนำซากเกษตรกรรมไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ผลิตพลังงาน แลกกับการได้สิทธิพิเศษทางภาษี
ส่วน KPI ของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ละจังหวัดจะขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหา PM 2.5 เนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่างตวงวัดได้ มีเครื่องมือวัดที่มาตรฐานแน่นอน หากจะผ่านต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด
อ่านข่าว"ชัชชาติ" ผุดไอเดียอุปกรณ์ดักควัน "รถเข็นปิ้งย่าง" คุมฝุ่น PM 2.5
กทม.จับมือสื่อแจ้งเตือนฝุ่น PM2.5 ช่วงข่าวพยากรณ์
ด้านนายพรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จะคุมเข้มแหล่งกำเนิด เช่น ตรวจในไซต์ก่อสร้าง ตรวจควันดำของยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งด้วย หากพบปัญหาค่าฝุ่นเกินมาตรฐานจะมีการแจ้งเตือน 2 ครั้ง หากยังไม่ดำเนินการแก้ไขจะยึดใบอนุญาตก่อสร้างทันที
นอกจากนี้ กทม.พัฒนาช่องทางสื่อสารและการแจ้งเตือนเรื่องฝุ่น PM2.5 ไปสู่ประชาชนผ่านสื่อมวลชนในช่องทางต่างๆ รวมถึงระบบแจ้งเตือนไปยังเครือข่ายบริษัทกว่า 150 บริษัท มีพนักงานกว่า 50,000 คน ที่สามารถประกาศให้พนักงาน work from home ในช่วงวิกฤต PM2.5 ได้ทันที
ส่วนความปลอดภัยด้านสุขภาพของนักเรียนอนุบาล กทม.จัดให้มีห้องปลอดฝุ่นแล้ว 1,743 ห้องครอบคลุมในชั้นอนุบาล 1 ครบถ้วนแล้ว ในปีนี้จะดำเนินการต่อไปในชั้นอนุบาล 2 และ 3
ทั้งนี้ กทม.มีมาตรการที่ชัดเจนมอบให้กับโรงเรียนในสังกัด อาทิ โครงการธงโรงเรียน แจ้งเตือนฝุ่นด้วยธงสีต่าง ๆ สร้างความตระหนักเรื่องฝุ่นให้นักเรียน หากฝุ่นมีค่าสีแดงให้ผอ.โรงเรียนพิจารณาปิดการเรียนการสอนได้โดยให้พิจารณาเป็นกรณีไป
อ่านข่าว
ฝุ่น PM 2.5 เช้านี้ กทม.เกินค่ามาตรฐาน 4 พื้นที่ หนองแขมหนักสุด