วันนี้ (19 ธ.ค.66) นพ.ประชา กัญญาประสิทธิ์ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม เปิดเผยในงานแถลงข่าว "ยิ่งดื่มนาน สมองยิ่งเสี่ยง ดื่มไม่ขับ" ปีใหม่ 2567 ว่า ทุกๆ 10 นาที จะมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 คน
อ่านข่าว : "อนุทิน" ลุยถนนข้าวสารเปิดผับถึงตี 4 นักท่องเที่ยวขอเซลฟี
นอกจากนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ สโตรก และอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเกินครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน หลังเวลา 01.00 น.ของโรงพยาบาล โดยเป็นผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ โดยเฉพาะช่วงที่มีนโยบาย เปิดสถานบันเทิงถึง 04.00 น.ก็ยิ่งเจอผู้ประสบอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับเพิ่มขึ้น
หลังเที่ยงคืน พอเปิดถึงตี 4 อุบัติเหตุเพิ่มขึ้นแน่นอน อย่าง จ.เชียงใหม่ ตอนนี้ก็มี 2 คน แล้วที่อุบัติเหตุทำให้เสียชีวิตและพิการ เพราะว่าเปิดผับถึงตี 4 ยิ่งดื่มนาน ยิ่งมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น
ขณะที่นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เปิดเผยว่า รู้สึกกังวล กับอุบัติเหตุบนท้องถนนที่อาจเกิดจากการดื่มแล้วขับช่วงเทศกาลปีใหม่ จากนโยบายเปิดสถานบันเทิงถึง 04.00 น.
อ่านข่าว : เปิดผับถึงตี 4 วันแรก สถานบันเทิง-นักท่องเที่ยวร่วมมือดี
คาดการณ์ว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกถึง 25 % จากสถิติเดิมปี 2566 ที่ ผลมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ และการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น หลังโควิด-19 จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คุมเข้มมาตรการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ก่อนหน้านี้ อุบัติเหตุมันจะเริ่มจุดพีกตอน 5 โมงเย็น สูงสุดเที่ยงคืนถึงตี 2 และลดลงมาเรื่อย ๆ จนถึงตี 5 หลังจากนี้ พอขยับการให้บริการสถานบันเทิงถึงตี 4 เกรงว่าตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุจะขยับไปถึง 7 โมงเช้าเลย
จากข้อมูลสถิติอุบัติทางถนนจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) รายงานว่า ปีใหม่ 2566 ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2566 – 4 ม.ค. 2566 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,440 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 317 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,437 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับเร็ว 37.5% ดื่มแล้วขับ 25.49% ตัดหน้ากระชั้นชิด 18.69% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์ 82.11% รถกระบะ 5.56% รถเก๋ง 3.24%
อ่านข่าว : ดีเดย์เปิดผับถึงตี 4 มท.เข้มทั่วประเทศ-กทม.เฝ้าระวังข้าวสาร
ศปถ. ได้มีแนวทางดำเนินการป้องกันลดอุบัติเหตุทางถนน 5 ข้อ ดังนี้
1.กำหนดเป็น "วาระแห่งชาติ" บูรณาการร่วมขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างจริงจัง ต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยใช้แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 – 2570 เป็นกรอบดำเนินงาน
2. ระดับพื้นที่ใช้กลไก ศปถ.จังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นมาตรการชุมชน มาตรการทางสังคม อาทิ เคาะประตูบ้าน ด่านชุมชน ด่านครอบครัว ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง
3. จังหวัดร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัด บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ควบคู่กับการรณรงค์ให้มีความตระหนัก สร้างจิตสำนึก รับผิดชอบต่อสังคม
4. ทุกภาคส่วนบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน
5. เสริมสร้าง ปลูกฝัง สร้างความตระหนักรู้ และจิตสำนึกอย่างจริงจัง เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัย
อ่านข่าว
"อนุทิน" เผยเปิดผับถึงตี 4 ยังไม่พบปัญหา เล็งขยายเพิ่มโซนท่องเที่ยว