วันนี้ (21 ธ.ค.2566) นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีศาลจังหวัดมุกดาหาร มีคำพิพากษาจำคุก นายไชย์พล วิภา หรือลุงพล จำเลยคดีน้องชมพู่จำคุก 20 ปีว่า สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย
ส่วนที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลที่ตรวจสำนวนแล้วให้ความเห็นไว้ว่าควรยกฟ้อง (เห็นแย้ง) เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์มีข้อสงสัยนั้นความเห็นแย้งก็จะอยู่ในสำนวนประจำคำพิพากษา
เมื่อเวลาคดีขึ้นสู่ศาลชั้นอุทธรณ์ องค์คณะศาลอุทธรณ์ก็จะเห็นทั้งตัวคำพิพาก ษาศาลชั้นต้น และความเห็นแย้ง ซึ่งทางองค์คณะศาลอุทธรณ์ ก็จะเอาข้อมูลทั้งหมดในสำนวน ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมทั้งความเห็นแย้งต่างๆ ข้อที่คู่ความอุทธรณ์ขึ้นมาประกอบในการพิจารณาทำคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์
แต่คำเห็นแย้งดังกล่าวคงไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์โดยตรง เพราะตัวความเห็นหลักยังเป็นความเห็นขององค์คณะผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
เพราะองค์คณะผู้พิพากษาเป็นคนสืบพยานเป็นผู้ที่เห็นข้อเท็จจริงในตอนที่พยานมาเบิกความ เห็นข้อเท็จจริงพยานหลักฐานต่างๆ อย่างใกล้ชิด ส่วนน้ำหนักความเห็นแย้งจะมีมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับมุมมองขององค์คณะผู้พิพากษาชั้นอุทธรณ์
นายไชย์พล วิภา หรือลุงพล ก่อนขึ้นศาลเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.)
อ่านข่าว ศาลให้ประกัน "ลุงพล" 780,000 บาท-อุทธรณ์ภายใน 30 วัน
หากยังเห็นคล้อยไปตามเสียงข้างมาก ขององค์คณะผู้พิพากษาก็เป็นดุลยพินิจของศาลในชั้นอุทธรณ์ ที่จะต้องวิเคราะห์วินิจฉัยจากข้อเท็จจริง จากคำเบิกความที่รับฟังมา ทั้งพยานเบิกความมา จากพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาประกอบกัน และเห็นว่าตัวข้อเท็จจริงพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์กับคำเบิกความมีความสอดคล้องกันเพียงพอ เชื่อมั่นได้ว่าจำเลยน่าจะเป็นคนที่กระทำความผิด
ไม่มีผลคดี "ความเห็นแย้ง"หัวหน้าศาลและอธิบดีศาลภาค 4
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ในการบังคับบัญชาของผู้พิพากษาหรือตุลาการไม่เหมือนกับข้าราชการฝ่ายอื่น เพราะถึงแม้ว่าโดยสายของการบังคับบัญชาในองค์กร ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะฯ จะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าศาล อธิบดีผู้พิพากษาฯ แต่การบังคับบัญชาไม่มีผลต่อการพิพากษาคดี
เพราะหลักการพิพากษาคดีเป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นอิสระจากการแทรกแซงภาย นอกและภายใน ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลยพินิจในการพิพากษาออกไปได้ โดยที่ไม่ได้เน้นผลของการบังคับบัญชา
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม แจงคดีลุงพล
อ่านข่าว หน้าตัดเส้นผม "น้องชมพู่" กุญแจไขคดีฆาตกรรม มัด "ลุงพล"
แต่ในฐานะที่หัวหน้าและอธิบดีศาล เป็นผู้รับผิดชอบราชการในงานของศาลนั้น ก็มีส่วนในการดูแลความเรียบร้อยของศาลที่อยู่ในการดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีอะไรที่ความเห็นส่วนตัวอาจจะแตกต่างไปจากองค์คณะผู้พิพากษา ก็มีอำนาจตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่จะทำความเห็นไว้ในสำนวนได้
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่าส่วนความเห็นแย้งของอธิบดีศาลและหัวหน้าศาลมีความสงสัยตามสมควรจึงเห็นควรยกประโยชน์ให้จำเลย ตรงนี้จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยนช์หรือไม่ ระบุว่าคงไม่ได้เป็นประโยชน์โดยตรง เพราะความเห็นแย้งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นความเห็นแย้งของเสียงข้างมากในคดีนั้น
ดังนั้นผลของคำพิพากษาตัวคำความเห็นแย้งตรงนี้ไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนแปลงของคำพิพากษาโดยตรง เพียงแต่เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาในชั้นสูงขึ้นไป และเรื่องการยกประโยชน์แห่งความสงสัยเป็นเงื่อนไขปกติในกฎหมาย
ลุงพล พร้อมทีมทนายความตั้งโต๊แถลงข่าวหลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวคดีน้องชมพู่
อ่านข่าว "ผู้การแต้ม" ฟันธง "ลุงพล" ถูกมัดด้วยเส้นผม "น้องชมพู่"
ซึ่งในคดีอาญาหลายคดีก็ต้องพิจารณาอยู่แล้วว่าพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบมามีเหตุทำให้วิญญูชนทั่วไปเกิดความสงสัยได้หรือไม่ว่าตัวจำเลยหรือผู้ต้องหากระทำความผิดจริง พยานหลักฐานเหล่าที่ที่ผู้ทำความเห็นแย้งดูเป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกันเพียงแต่บางจุด หรือข้อเท็จจริงบางส่วนอาจจะมีมุมมองที่เห็นต่างกันได้ แต่ในการวินิจฉัยมีหลักอยู่แล้วตามเงื่อนไขของกฎหมาย หากมีเหตุสงสัยสามารถยกประโยชน์ให้จำเลยได้
การเห็นแย้งของหัวหน้าศาลและอธิบดีศาล เคยเกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ในศาลใหญ่ๆ ก็เคยมีเหตุการณ์คล้ายๆ กันไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะเป็นเรื่องของการตรวจสำนวนตั้งข้อสังเกตไว้ชั้นสำนวนปกติ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่ผิดปกติไป ที่ผ่านมาจะเห็นบางคดีที่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาขึ้นไป
คำพิพากษาของศาลชั้นสูงก็อาจแตกต่างไป อาจจะกลับหรือแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ เพราะแม้พยานหลักฐานชุดเดียวกันแต่อาจจะมีความเห็นหรือมุมมองที่ต่างกันได้ ผู้พิพากษาแต่ละท่านก็จะใช้ประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวมาดูแต่ละคนก็มีมุมมองที่แตกต่างกัน
อ่านข่าว
คำพิพากษาฉบับเต็ม เส้นผม-มือถือ มัดคุก 20 ปี "ลุงพล" คดี "ชมพู่"