วันนี้(25 ธ.ค.2566) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดส่งออกสำคัญของไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากภาวะเงินเฟ้อสูงเริ่มชะลอลงและมีแนวโน้มกลับสู่ระดับเป้าหมายในปีหน้าซึ่งขณะนี้หลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณการจบวงรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกรายสินค้าในภาพรวมขยายตัวทุกหมวด
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์
โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตร ที่ขยายตัวมากกว่าหมวดอื่น ๆ ส่งผลให้การส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมูลค่า 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 847,486 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ร้อยละ 4.9 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 25,879.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 944,873 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.1 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 2,399.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 97,387 ล้านบาท
ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 261,770.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 9,013,184 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 267,935.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 9, 341,112 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.8 และขาดดุลการค้า 6,165.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 327,928 ล้านบาท
อ่านข่าวอื่นๆ:
หนี้บ้านพุ่ง 4.9 ล้านล้าน เสี่ยงสูง NPL หอการค้าวอนรัฐเร่งแก้
มีปัจจัยบวกจากการจับจ่ายใช้สอยก่อนเข้าสู่เทศกาลสำคัญในช่วงท้ายปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลายประเทศเร่งนำเข้าสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ส่งออกเดือนนี้ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง
ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า แผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนจัดทำแผนเร่งรัดการส่งออกระยะ 1 ปี ประกอบด้วยกิจกรรมทั้งหมด 417 กิจกรรม คาดมูลค่าส่งออก 65,700 ล้านบาท ภายใต้ 5 กลยุทธ์สำคัญ คือเปิดประตูโอกาสทางการค้า เชิงรุก สู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดเดิม เร่งผลักดันการเจรจา FTA เจาะตลาดเมืองรองศักยภาพ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากท้องถิ่นสู่ตลาดโลก เร่งสร้างรายได้ภาคการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการส่งออก ด้วยแบรนด์ นวัตกรรม การออกแบบ และการสอดแทรกคุณค่าอัตลักษณ์ความเป็นไทย
นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงฯเน้นผลักดัน 11 สาขา soft power เป้าหมาย รุกสู่เวทีโลก และผลักดันภาคธุรกิจไทยปรับตัวเข้าสู่การค้าโลกในยุคดิจิทัล และส่งเสริม Cross-border E-Commerce รวมถึงสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า ภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม
ได้มอบหมายทูตพาณิชย์ใน 10 ประเทศเป้าหมาย ภายใต้นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก คือ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และแอฟริกาใต้ จัดทำแผนขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย
สำหรับแนวโน้มในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 จะกลับมาอยู่ในระดับที่ดีกว่าช่วงภาวะปกติก่อนเกิดโควิด-19 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปีนี้ ส่วนส่งออกปี 2567 คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก พร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนที่กลับมา
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการทำงานเพื่อผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในปี 2567 ไว้ที่ร้อยละ 1.99 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านบาท
อ่านข่าวอื่นๆ:
ดรามา “เติมไม่เต็มลิตร” ค้าภายในแจงไม่ผิด กม.ชี้ขาดเกินได้1%