วันนี้ (4 ม.ค.2567) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อัปเดตว่า กรณีอาสาสมัครกู้ภัยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่เทศบาล ต.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร พบนกไม่ทราบชนิดขนาดใหญ่บินหลงมาอยู่บนถนนทางเข้าเทศบาล จึงนำกลับมาที่บ้าน และได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับไปดูแลพบเป็นแร้งดำหิมาลัย นกอพยพหายาก
อ่านข่าว ชัดแล้ว! "แร้งดำหิมาลัย" นกหายากใกล้สูญพันธุ์ ตกที่กำแพงเพชร
สัตวแพทย์หญิงพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า หลังจากรับมอบแร้งดำหิมาลัยมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ (3 ม.ค.) พบว่านกมีอาการอ่อนแรงจากการเดินทางไกล ทำให้เป็นสาเหตุการร่วงที่ จ.กำแพงเพชร ตรวจร่างกายปีก และขาไม่พบอาการบาดเจ็บ จึงสันนิษฐานว่าใช้พลังงานมากระหว่างอพยพจึงเกิดอาการอ่อนแรง
สัตวแพทย์หญิงพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า ตอนนี้ได้ให้แร้งดำหิมาลัยกินอาหาร โดยให้กินเนื้อหมูวันละ 2 มื้อประมาณเกือบ 1.5 กก.ต่อวัน เพื่อเร่งสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น ตอนนี้มีน้ำหนัก 7.1 กก.ไม่สามารถระบุเพศได้ แต่ยังเป็นแร้งดำหิมาลัยตัวไม่เต็มวัย โดยพบว่าแร้งตัวนี้พยายามกระพือปีกและพยายามจะบินขึ้น แต่ยังบินความสูงเพียง 1 เมตรเท่านั้น
น้องช้าง ไม่ตื่นคน ตอบสนองการกินอาหารได้ดี พยายามกระพือปีก แต่บินไม่ถึง 1 เมตร ตากแดดวันละ 1-2 ชม.และเน้นกินอาหารให้สร้างกล้ามเนื้อ คาดว่าถ้า 3-4 วันนี้อาการดีจะนำส่งให้หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ ที่มก.เพื่อฟื้นฟูและติดแท็กและปล่อยคืนธรรมชาติ
แร้งดำหิมาลัย บินพลัดหลงตกที่จ.กำแพงเพชร ถึงมือสัตวแพทย์ สบอ.12 จ.นครสวรรค์ (ภาพกรมอุทยานฯ)
ตั้งชื่อ "น้องช้าง" แร้งดำหิมาลัย
สำหรับชื่อที่เรียกว่า "น้องช้าง" เพราะหัวนกแร้งดำหิมาลัย จะไม่มีขน เหมือนกับตัวละครในวรรณคดี "ขุนช้าง" จึงตั้งชื่อเล่นว่าน้องช้าง แต่พอเรียกก็ไม่ได้หันมาหา ทั้งนี้คาดว่าอย่างเร็วสุดวันที่ 8-9 ม.ค.นี้ อาจจะนำตัวส่งมาที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่เป็นจุดที่ดูแลนกแร้งอพยพที่บินพลัดหลงตกในเมืองไทยมาหลายตัวแล้ว
สำหรับ "แร้งดำหิมาลัย" ซึ่งเป็นนกล่าเหยื่อจำพวกแร้งขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ขนาดลำตัวยาวประมาณ 102-104 เซนติเมตร ความยาวปีกจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง 2.9-3 เมตร น้ำหนักหนักได้ถึง 7-12.5 กิโลกรัม
ถือเป็นแร้งที่ใหญ่ที่สุดที่พบได้ในทวีปเอเชีย ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน ทั่วตัวมีขนสีดำ ตรงบริเวณหัวถึงคอมีขนน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย บริเวณรอบ ๆ คอมีขนขึ้นฟูคล้ายพวงมาลัย นิ้วสีออกขาว ตัวที่ยังไม่โตเต็มวัยมีลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอ่อนกว่า
แร้งดำหิมาลัย ไม่ใช่นกประจำถิ่นของไทย นอกจากอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฤดูหนาวของแต่ละปีเท่านั้น ทั้งนี้มีการกระจายพันธุ์ในทวีปยุโรปจนถึงภูมิภาคไซบีเรีย เอเชียกลาง จีน อินเดีย จะอพยพมาประเทศไทยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ หายาก และมีปริมาณน้อยมาก
ประเทศไทย แร้งดำหิมาลัย เป็นนกอพยพหายาก จะอพยพเข้ามาในฤดูหนาวบางปี จำนวน 1-2 ตัวเท่านั้น โดยแร้งจะร่อนมากับลมหนาวตั้งแต่เดือนธ.ค.ของทุกปีเคยมีรายงานพบบินพลัดหลงที่จ.เชียงใหม่ เพชรบุรี นครราชสีมา ระยองและจันทบุรี ทั้งนี้หากท่านใดพบเห็นแจ้งได้ที่สายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง