วันนี้ (5 ม.ค.2567) สถานการณ์ปัญหาไข้เลือดออก กลับมาเป็นที่สนใจของประชาชนอีกครั้ง หลังอาการป่วยด้วยไข้เลือดออกล่าสุดของ "วิรดา วงศ์เทวัญ" นางเอกลิเก และนักร้องชื่อดัง น้องสาว"กุ้ง" สุธิราช วงศ์เทวัญ
อ่านข่าว : ส่งกำลังใจให้ “วิรดา” น้องกุ้ง สุธิราช ป่วยไข้เลือดออกรุนแรง-ไม่รู้สึกตัว
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับ ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ขณะนี้สถานการณ์ไข้เลือดยังสูงต่อเนื่อง สาเหตุจากอัตราการการป่วยและเสียชีวิต ตั้งแต่ปลายปี 2566 ทำให้อัตราผู้ป่วยยังคงต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2567 และยังสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากนี้อัตราการการป้วยจะค่อยๆลดลง และคาดว่าผูู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงฤดูฝน
สถานการณ์ไข้เลือดออก ยังไม่ยุติลงง่ายๆ และภาพรวมของไข้เลือดออกในปี 2567 กับ 2566 จะไม่แตกต่างกันมากนัก
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกในวัยผู้ใหญ่ มีอาการรุนแรง และบางรายเสียชีวิต เนื่องจากวัยผู้ใหญ่เมื่อมีอาการป่วย ส่วนใหญ่มักไม่ได้สังเกตอาการตัวเอง โดยคิดว่าอาจป่วยไข้หวัดหรือโควิด และเลือกที่จะซื้อหายามารับประทานเอง เช่น การทานยาแอสไพรินแก้ไข้ ยิ่งทำให้อาการทรุดหนัก
ส่วนเด็กไม่ได้ป่วยมากเหมือนก่อน เนื่องจากอัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรคนี้ ส่วนใหญ่เป็นกุมารแพทย์
ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ มีการวินิจฉัยโรคยากกว่าเด็ก ความเชี่ยวชาญของหมอก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เพราะคนส่วนใหญ่คิดไม่ถึงว่า ไข้เลือดออกจะพบในผู้ใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วไข้เลือดออกเป็นแล้วตายได้ แต่ไข้หวัดไม่ตาย
นพ.จักรรัฐกล่าวอีกว่า สำหรับการสังเกตอาการผูู้ป่วยไข้เลือดออก คือ มีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง แต่หากมีอาการปวดท้องมากร่วมแสดงว่า ตับเริ่มโต และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการช็อกเสียชีวิตได้ การให้น้ำเกลือหรือสารน้ำ อาจไม่ทันกาลกับการช่วยชีวิต ทางที่ดีต้องสังเกตใส่ใจตัวเอง และคนรอบบ้านด้วย หากในรอบรัศมีบ้าน มีผู้ป่วยไข้เลือดออก ก็ให้สงสัยว่าตนเองอาจมีอาการป่วยจากโรคนี้ได้
ทั้งนี้ข้อมูลจากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกระบุว่า ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.- 27 ธ.ค.2566 พบ ผู้ป่วย 153,734 คน คิดเป็นอัตราป่วย 232.47 ต่อแสนประชากร ส่วนอัตราการเสียชีวิต พบ 168 คน คิดเป็นอัตราตายร้อยละ 0.11
หากเปรียบเทียบอัตราป่วยระหว่างปี ในช่วงเวลาเดียวกัน ของปี 2566 กับปี 2565 มีอัตราการป่วยมาก 3.4 เท่า รายงานเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2,926 คน เสียชีวิต 3 คน หากเปรียบเทียบอัตราป่วยตามเพศจะพบว่า ไม่แตกต่าง ชาย 78,320 คน คิดเป็นร้อยละ 50.9 และหญิง 75,414 คน ร้อยละ 49.1
หากเปรียบเทียบช่วงอายุที่พบการป่วยมากที่สุด คือ อายุ 5-14 ปี จำนวน 52,213 คน คิดเป็นอัตราป่วย 700.44 ต่อแสนประชากร รองลงมาอายุ 0-4 ปี จำนวน 19,374 คน คิดเป็นอัตราป่วย 679.80 ต่อแสนประชากร และอายุ 15-24 ปี จำนวน 32,200 คน คิดเป็นอัตราป่วย 392.41 ต่อแสนประชากร ส่วนกลุ่มอาชีพที่พบป่วย ในกลุ่มนักเรียน 69,391 คน คิดเป็นร้อยละ 45.1 รองลงมา รับจ้าง 29,851 คน ร้อยละ 19.4
ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ยังระบุอีกว่า อัตราการเสียชีวิต ของผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไปมีถึง 134 คน และเด็กอายุน้อย 15 ปี 47 คน โดย ปัจจัยเสี่ยง ของการป่วยในวัยผู้ใหญ่ พบว่า ไปรพ.ช้า ประมาณวันที่ 4 หลังเริ่มมีอาการป่วย ร้อยละ 32.8 ,โรคประจำตัว และติดสุรา ร้อยละ 29.9 และมีภาวะอ้วน ร้อยละ 24.6
ส่วนปัจจัยการเสียชีวิตของเด็ก มากสุด ร้อยละ 23.4 มากจากภาวะอ้วน รองลงมาไปรพ.ช้า วันที่ 4 หลังเริ่มป่วย ร้อยละ 19.1 , มีโรคประจำตัว ร้อยละ 12.8
แนะ3 วิธีสังเกตป่วยไข้เลือดออก
- ถ้ามีอาการป่วย และมีไข้ 3-4 วัน และเริ่มลดลง และมีคนแถวบ้านป่วยไข้เลือดออก ให้สงสัยป่วยไข้เลือดออก และแจ้งแพทย์
- เมื่อรู้ตัวว่าป่วย ต้องทายากันยุงเสมอ เพื่อลดการแพร่เชื้อ ให้กับผู้อื่น เนื่องจากยุงหากกัดคนป่วย และไป กัดคนอื่นต่อ ก็จะทำให้จำนวนคนป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
- ป้องกันไม่ให้ยุงกัด ด้วยการทำลาย แหล่งเพาะกันยุง กำลังลูกน้ำยุงลาย ให้หมดไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ยากันยุงเถื่อน เกลื่อนออนไลน์ "ยุงดื้อยา"ป่วยไข้เลือดออกพุ่ง