นายอับดุลอาซิ มูซอ ผู้เลี้ยงปลากะพง ยังคงเร่งตักปลาที่ลอยตายขนาดใหญ่ขึ้นมาทิ้งนอกกระชัง บางตัวขนาดน้ำหนัก 3-5 กิโลกรัม
นายอับดุลอาซิ บอกว่า น้ำท่วมที่ผ่านมาเสียหายอย่างหนัก เพราะปลาลอยตายจำนวนมาก บางส่วนแม้จะจับขึ้นมาได้ทัน แต่ก็ต้องขายราคาถูก เพียงกิโลกรัมละ 75 บาท จากปกติราคาขายให้พ่อค้าคนกลางกิโลกรัมละ 130-150 บาท บางส่วนที่ขายไม่หมดก็ต้องทิ้ง
โดยตัวเขาและญาติร่วมกันเลี้ยงปลา ประมาณ 60 กระชัง ซึ่งต้องเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกันทั้งหมด เสียหายคนละหลายแสนบาท เพราะปลาที่ลอยตายขนาด 3-5 กิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 15 เดือนแล้ว และต้องหมดไปกับค่าอาหารเม็ดและหัวปลาสด ที่ซื้อแต่ละวันหลายหมื่นบาท
หลายคนบอกว่า ให้เราเปลี่ยนอาชีพ เพราะการเลี้ยงปลาในน้ำธรรมชาติมีความเสี่ยงสูง แต่คนที่นี่มีแค่ 2 อาชีพ ไม่เลี้ยงปลาก็ทำการประมง บางคนไม่มีเรือก็ทำประมงไม่ได้ เลี้ยงปลาจึงเป็นการทำมาหากินเดียว เราก็เตรียมตัวทุกครั้งช่วงฤดู เช่นย้ายกระชัง แต่ปีนี้น้ำมากจริง ๆ ทุกคนจึงเก็บปลาไม่ทัน
นายอับดุลอาซิ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดเสรีให้นำเข้าปลาจากประเทศเพื่อนบ้านแบบไม่จำกัดโควต้า ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาขายปลากะพงของชาวบ้าน ที่แม้จะมีรสชาติดีกว่าอื่น ๆ ถูกกดราคาลง
อยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาดู ช่วยเหลือแบบครบวงจรกับชาวบ้านที่ต้องเผชิญความเสี่ยงกับภัยพิบัติ เช่นการจำกัดโควต้าปลานำเข้า ที่ทำให้ชาวบ้านต้องขายถูกจนไม่คุ้มกับต้นทุน
ด้านประมง อ.สายบุรี ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสว่า ขณะนี้มีผู้เลี้ยงปลามาขึ้นทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากเหตุน้ำท่วมในวันที่ 29 พ.ย. ถึง 11 ธ.ค.2566 รวม 65 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 15 ล้านบาท
โดยเกณฑ์การช่วยเหลือของรัฐ จะชดเชยให้สูงสุดไม่เกินรายละ 29,440 บาท หรือ ความกว้างยาวของกระชังขนาด 5 คูณ 5 ตารางเมตร จำนวน 4 กระชัง
สำหรับ อ.สายบุรี มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาว และปลาทุกชนิด ทั้งรายเก่าและใหม่ รวม 607 ราย มีกระชังปลา 3,226 กระชัง
ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้ เรียบเรียง