ถังขยะแบบคัดแยกชนิดอย่างชัดเจน คือ ขยะทั่วไป, เศษอาหาร, รีไซเคิล และ ขยะอันตราย รวมไปถึงถังขยะเฉพาะสำหรับ ตะเกียบ,ไม้เสียบลูกชิ้น, หลอด, แก้วพลาสติก เป็นวิธีการจัดการขยะของ โอลด์เชียงใหม่ (ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ผู้ประกอบการร้านอาหาร และ จัดกิจกรรม ย่าน ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ หนึ่งในเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวโลว์คาร์บอน ของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้ ผักและผลไม้ ปริมาณกว่า 100 กิโลกรัมต่อวัน ที่นำมาปรุงเป็นอาหารพื้นเมืองให้บริการแก่ลูกค้า ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ก็มีการทำสัญญาซื้อขายกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตร
เพื่อให้มั่นใจว่า กระบวนการผลิตจะไม่มีสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม และ ขณะที่การขนส่งผักและผลไม้ ก็ยังใช้พลังงานเชื้อเพลิงต่ำ เพราะมีระยะทางการขนส่งไม่ไกลนัก
มนัสวัฑฒก์ ชุติมา ผู้บริหารโอลด์เชียงใหม่ (ศูนย์วัฒนธรรมฯ) เล่าว่า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน "โอลด์เชียงใหม่" จึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กร รวมทั้ง สินค้า และบริการ โดยเฉพาะการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นออร์แกนิค การคัดแยกขยะให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจว่าสถานที่ท่องเที่ยวของเราให้ความสำคัญในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม ลูกค้าที่ใส่ใจก็จะเลือกใช้บริการของเราโดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติชาวตะวันตกที่ค่อนข้างสนใจในเรื่องนี้
มนัสวัฑฒก์ ชุติมา ผู้บริหารโอลด์เชียงใหม่
แม้การวางแผนร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกผักจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 1 - 2 เท่า แต่เราก็ไม่ได้จะขยับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามไป โดยหวังว่าผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ได้เห็นตัวอย่างว่าเราสามารถทำได้ และหันมาร่วมกันใช้วัตถุดิบออร์แกนิค ก็จะทำให้ราคาอาจจะขยับตัวลงในอนาคตและกลายเป็น New Normal ของการประกอบกิจการ
ส่วนที่ศูนย์การค้าย่านไนท์บาซาร์เชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานประกอบการในเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่
นฤชิต ไชยรัตน์ ผจก.ศูนย์การค้าพาวิลเลี่ยนไนท์บาซาร์ บอกว่า ศูนย์การค้าได้หันมาปรับเปลี่ยนหลอดไฟแอลอีดีที่กินไฟน้อย แต่มีอายุการใช้งานยาวนาน เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และขอความร่วมมือผู้ค้ารายย่อยลดปริมาณขยะ ทั้งการใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ
และคัดแยกขยะอย่างจริงจัง โดยขยะรีไซเคิลถูกบริหารจัดการในรูปแบบธนาคารขยะ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเป็นรายได้คืนแก่ผู้ประกอบการ โดยปริมาณขยะประเภทต่างๆ จะถูกคำนวณกลับเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิต หรือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้
นฤชิต ไชยรัตน์ ผจก.ศูนย์การค้าพาวิลเลี่ยนไนท์บาซาร์
ต้องยอมรับว่ากระแสของโลกยุคใหม่ หันมาสนใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจก็ควรจะมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งทางตรง และ ทางอ้อม ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกิจการ และ ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ดียิ่งขึ้นครับ
จิรกร สุวงค์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า การลดก๊าซเรือนกระจกในภาคท่องเที่ยวมี 4 เรื่องหลัก คือ 1.การลดพลังงานไฟฟ้า ทั้งแสงสว่างและเครื่องใช้ไฟฟ้า 2.เป็นเรื่องของการขนส่ง หรือ พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง
3.อาหารและเครื่องดื่ม และ 4.การจัดการขยะ ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนมีก๊าซเรือนกระจกแฝงอยู่ในกิจกรรมต่างๆ และภาคธุรกิจก็จะมีกระบวนการเข้าไปบริหารจัดการก่อนแปรค่าออกมาเป็นตัวชี้วัดต่างๆ
จิรกร สุวงค์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่
ในตลาดต่างประเทศ ขณะนี้เกิน 50 % แล้ว ที่มีความต้องการ Green service ไม่ว่าจะเป็นการเลือกโรงแรม เลือกร้านอาหาร เลือกแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ฉะนั้นในด้านการตลาด ธุรกิจท่องเที่ยวโลว์คาร์บอน จึงเป็นเทรนที่ผู้ประกอบการยังต้องพาตัวเองไปถึงตรงนั้น ให้เร็วที่สุด
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ยังเร่งสร้างเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนทั้ง โรงแรม ร้านอาหาร และ ขนส่ง โดยวางเป้าหมายไว้ไม่ต่ำกว่า 100 ผู้ประกอบการ ภายในปีหน้า ซึ่งจะเป็นการยกระดับ และ ขยายตลาดการท่องเที่ยว สร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไป
อ่านข่าวอื่นๆ
"ประเสริฐ" ไขก๊อก สส.อ้างเปิดทางคนรุ่นใหม่เข้าสภา
พบแล้ว ชิ้นส่วน "โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 9" ตกหลังบ้านครูในพอร์ตแลนด์