เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2567 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมเลือก นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แทนนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่หมดวาระเมื่อเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา
นายนครินทร์ เกิดเมื่อ 28 ก.ค.2501 ปัจจุบันอายุ 66 ปี เป็นนักรัฐศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่ง กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (2557 - 2558) สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (2549 - 2550) ปัจจุบันนายนครินทร์ ยังอยู่ในตำแหน่ง "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"
นายนครินทร์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" เมื่อเดือน พ.ย. 2558 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 โดยจะพ้นจากตำแหน่งในเดือน พ.ย. 2567 นี้
นายนครินทร์ จบการการศึกษา
- ระดับปริญญาตรี สาขาการเมืองการปกครอง (เกียรตินิยมอันดับ 2) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2523
- ระดับปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ระดับปริญญาเอก INTERNATIONAL STUDIES WASEDA UNIVERSITY ประเทศญี่ปุ่น
นายนครินทร์ เคยเป็นอาจารย์สอนที่ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนถึงต้นปี 2532 ก่อนย้ายไปมาเป็นอาจารย์ที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเลื่อนขึ้นเป็น คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จากนั้นศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาเอก โดยตำแหน่งหน้าที่สำคัญ ดังนี้
- รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 1 ก.พ.2557 - 16 ต.ค.2558
- รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 15 ก.ย.2555 - 31 ม.ค.2557
- รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 1 พ.ค.2553- 14 ก.ย.2554
- คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 1 ก.พ.2547 - 31 ม.ค.2553 (2 สมัย)
นอกจากนี้ นายนครินทร์ ยังมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ดังนี้
- สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2550)
- กรรมการอื่นใดในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (พ.ศ. 2551 - 1 กันยายน พ.ศ. 2554)
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร (28 เม.ย.2554)
- กรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ด้านการเมือง) (13 ส.ค. 2557)
- กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (4 พ.ย.2557)
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (16 พ.ย. 2558 - ปัจจุบัน)
"ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" วินิจฉัยคดีเมืองสำคัญ
นอกจากนี้ นายนครินทร์ ยังเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 2558 หรือราว 5 ปี ซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยคดีสำคัญหลายคดีเช่น คดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหนางนายกฯ ครบ 8 ปี หรือ คดียุบพรรคอนาคตใหม่
เสียงข้างน้อยให้ "ประยุทธ์" พ้นนายกฯ เหตุอยู่ครบ 8 ปี
สำหรับนายนครินทร์ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 ใน 3 เสียงข้างน้อยที่วินิจฉัยว่า สถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ โดยให้พ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี
สาระสำคัญส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยส่วนตนของนายนครินทร์ ให้เหตุผลในคำวิจิฉัย ว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นระยะเวลานาน จนมีลักษณะเป็นการผูกขาดอำนาจ อาจก่อให้เกิดปัญหาหรือวิกฤตทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประโยชน์ของประชาชน ประโยชน์สาธารณะ ระบอบการปกครอง และการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ
นอกจากนี้ มาตรา 158 วรรค 4 ได้กำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกฯ "เป็นมาตรการจำกัดการผูกขาดและการใช้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายบริหารโดยไม่เป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของการตรวจสอบในระบบรัฐสภา" และ "ไม่ได้มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล"
ผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อเนื่องมานับแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยการดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้สิ้นสุดหรือขาดตอน แต่อย่างใด ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกฯ รวมกันแล้วเป็นระยะเวลาเกินกว่า 8 ปี
ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ ของผู้ถูกร้อง จึงสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่
เสียงข้างมากคดี "ยุบพรรคอนาคตใหม่"
นอกจากนี้นายนครินทร์ ยังเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากพิจารณาคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ทำผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง รับเงินที่ได้จากการกู้ยืมมาใช้จ่ายเป็นทุน ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง มีความมุ่งหมายเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคเป็นไปโดยเปิดเผย ตรวจสอบได้ มีมาตรการกำกับให้พรรคดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกของพรรค
และรัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้พรรคการเมืองมีฐานะเป็นองค์การองค์กรนิติบุคคลทางกฎหมายมหาชน โดยมี พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพรรคการเมืองผ่านกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งพรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน
ดังนั้น แม้พรรคมีรากฐานการก่อเกิดมาจากการรวมตัวกันโดยสมัครใจของกลุ่มคนในสังคม แต่ก็มีสถานะเฉพาะต่างไปจากกลุ่มสาธารณะทั่วไปในพื้นที่ประชาสังคม เนื่องจากมีบทบาทหน้าที่เชิงสถาบันภายในระบบการเมือง การกำกับควบคุมการดำเนินกิจการภายในของพรรคการเมืองโดยรัฐจึงมีความจำเป็นต่อการปกป้องความเป็นอิสระของพรรคการเมือง
ดังนั้น การที่ พรรคอนาคตใหม่รับเงินที่ได้จากการกู้ยืมมาใช้จ่ายเป็นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทั้งที่เป็นเงินที่ไม่ได้มีแหล่งที่มาและวิธีการได้มาตามกฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 62 จึงเป็นกรณีที่พรรคอนาคตใหม่รับบริจาคประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม.72 เป็นเหตุให้ยุบพรรคตาม ม.92 วรรคสอง
เสียงข้างน้อยฟัน "พิธา" พ้น "สส."
ทั้งนี้ นครินทร์ เป็นตุลาการเสียงข้างน้อยเพียงคนเดียว ที่มีมติให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พ้นสมาชิกภาพ สส. จากกรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี
อ่านข่าวอื่น ๆ
"กุ้ง สุธิราช" แถลงน้ำตาคลอ "วิรดา" อาการวิกฤตป่วยไข้เลือดออก
กมธ.ตปท.ชงนายกฯ เจรจา "ฮุน มาเน็ต" เปิดจุดผ่อนปรนขึ้นเขาพระวิหาร