วันนี้ (28 ม.ค.2566) The Japan Time รายงานว่า แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 08.59 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 06.59 น.ตามเวลาในประเทศไทย โดยแรงสั่นสะเทือนสูงสุดอยู่ที่ระดับ 4.8 รู้สึกได้ที่กลางกรุงโตเกียวและพื้นที่อื่นๆ ของเมืองหลวง และ โยโกฮามะ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นระบุ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อ่าวโตเกียวที่ระดับความลึก 80 กม.
แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อบริการรถไฟภายในเขตมหานครโตเกียว เจอาร์ อีสต์ และผู้ให้บริการรถไฟเอกชน ตามรายงานระบุว่า รถไฟสามารถให้บริการได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม NHK รายงานว่า รถไฟชินคันเซ็นอย่างน้อย 1 ขบวนที่เดินทางระหว่างสถานีชินากาวะในโตเกียว และ สถานีชิน-โยโกฮามะ ใน จ.คานากาวะ ได้หยุดฉุกเฉินเมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. แต่หลังจากนั้นก็สามารถเดินขบวนได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือความเสียหาย รวมถึงไม่มีสัญญาณเตือนสึนามิ แต่อย่างใด
สำหรับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยว หรือทำงานที่ญี่ปุ่น The Japan Times ระบุว่า ศาลาว่าการกรุงโตเกียวได้เผยแพร่ คู่มือภัยพิบัติ ที่สามารถนำไปใช้ในขณะอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ และนี่คือบทสรุปสิ่งที่ควรรู้ ก่อน-ระหว่าง-หลัง เกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (ภาษาไทย)
ก่อนเกิดแผ่นดินไหว
- รู้เส้นทางการอพยพ ไม่เพียงแต่จากบ้านของคุณเท่านั้น แต่ยังจากที่ทำงาน โรงเรียนของเด็กๆ และสถานที่ที่คุณไปบ่อยๆ และพิมพ์แผนที่ เนื่องจากคุณไม่สามารถพึ่งพา Google ได้ในยามเกิดภัยพิบัติ
- จดหมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ และเก็บไว้ในชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินของคุณ นอกเหนือจากการติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูงแล้ว ให้จดบันทึกการติดต่อในกรณีฉุกเฉินและหมายเลขสถานทูตของคุณด้วย
- เตรียมน้ำและอาหารที่ไม่เน่าเปื่อย และอย่าลืมตรวจสอบชุดอุปกรณ์แผ่นดินไหวเพื่อดูวันหมดอายุทุกปี
ชุดแผ่นดินไหวมาตรฐานประกอบด้วย : ไฟฉาย วิทยุพกพา แบตเตอรี่ ที่ชาร์จ ที่เปิดกระป๋อง ชุดปฐมพยาบาล ผ้าห่ม ชุดกันฝน และสำเนาเอกสารสำคัญ (หนังสือเดินทาง รายละเอียดธนาคาร) และเงินสด - เตรียมการในเรื่องเล็กๆ เช่น อย่าปล่อยให้น้ำมันรถใกล้หมด เผื่อกรณีต้องขับรถออกจากพื้นที่ จดบันทึกป้ายอพยพเมื่อไปเยือนสถานที่ใหม่ๆ และเรียนรู้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว
- หากไม่ใช่พลเมืองญี่ปุ่น ให้ลงทะเบียนที่สถานทูตของตัวเองไว้
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Quake ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดคือ Yurekuru Call ( Android ) ( iOS ) สามารถแจ้งเตือนการเกิดแผ่นดินไหวให้ทราบล่วงหน้าในไม่กี่วินาที
ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว
หากอยู่ในอาคาร
- ก้มลงต่ำ ช่วยทรงตัวได้ในระหว่างที่เกิดแรงสั่นสะเทือน
- ระวังศีรษะและคอ ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากสิ่งของที่หล่นจากชั้นวางหรือจากเพดาน หากคุณออกไปข้างนอกในเขตเมือง ระวังกระจกแตก อิฐ หรือซีเมนต์ตกลงมาจากอาคาร ให้ใช้กระเป๋า เป้สะพายหลัง หรือกระเป๋าเงินเพื่อปกป้องศีรษะและคอของคุณ
- เกาะ พยายามเกาะที่ยึดที่มั่นคง เพื่อให้ตัวเองอยู่กับที่ ในกรณีที่เกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง แม้ว่าแผ่นดินไหวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียง 10 วินาที แต่แผ่นดินไหวครั้งใดครั้งหนึ่งอาจเป็น "แผ่นดินไหวครั้งใหญ่" ที่กินเวลาไม่กี่นาทีและเลวร้ายลงเรื่อยๆ ได้
หากใช้ระบบขนส่งสาธารณะ อยู่ในความสงบและปฏิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่
หากอยู่ในรถ ให้ถอยรถทันทีเพื่อให้ห่างจากเศษซากที่อาจตกลงมาจากต้นไม้ อาคาร สายไฟเหนือศีรษะ หรือสะพานลอย และให้รออยู่ในรถถ้าทำได้ เปิดวิทยุเพื่อรับรายงานเหตุฉุกเฉิน หากต้องอพยพ อย่าลืมปลดล็อกประตูรถและทิ้งกุญแจไว้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเคลื่อนย้ายรถหากเกิดเหตุอพยพ รวมถึงตรวจสอบให้แน่ใจว่ารถของคุณไม่ได้กีดขวางรถกู้ภัย
หลังจากเกิดแผ่นดินไหว
หากอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล อย่ารอการอพยพออกจากสึนามิอย่างเป็นทางการ ให้มุ่งหน้าไปยังที่สูงทันที
หากติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง ให้ปิดปาก ทุบท่อหรือผนังเป็นจังหวะ หรือส่งข้อความขอความช่วยเหลือแทนการตะโกน เพื่อประหยัดพลังงานและออกซิเจน หากโทรศัพท์ขัดข้อง ให้ใช้แอปพลิเคชันหรือส่งข้อความ เมื่อต้องอพยพออกจากอาคาร ห้ามใช้ลิฟต์ ให้ใช้บันไดแทน ระวังการใช้ไฟแช็กจนกว่าคุณจะแน่ใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว และหากต้องอพยพออกจากบ้าน ให้ปิดเบรกเกอร์ แก๊ส ด้วย
อ่านข่าวอื่น :