กรณีมีข้อมูลผู้ยื่นครอบครองสิงโตทั้งหมด 224 ตัว ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีลูกสิงโตเกิดใหม่ประมาณ 20 ตัว ซึ่ง จ.นครปฐม ถูกจับตาเป็นลำดับต้น ตั้งแต่การตรวจยึดลูกสิงโตที่ จ.ชลบุรี และพบว่ามีการย้ายมาจากฟาร์มแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม
วันนี้ (30 ม.ค.2567) เจ้าหน้าที่ลงตรวจฟาร์มอีกแห่งใน จ.นครปฐม ที่อยู่ระหว่างดำเนินการขอเปิดเป็นสวนสัตว์ มีลูกสิงโตเกิดใหม่อีก 2 ตัว สถานที่ดังกล่าวอยู่ใน อ.ดอนตูม โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงสถานที่และขออนุญาตตั้งเป็นสวนสัตว์
เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เข้านับจำนวนสิงโตที่แจ้งครอบครองไว้ทั้งหมด 11 ตัว แต่มีการแจ้งเกิดใหม่เพิ่มอีก 2 ตัว โดยลูกสิงโตอายุ 2 เดือน เจ้าของแจ้งเกิดผ่านสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ไว้ก่อนแล้ว สัตวแพทย์จึงบันทึกประวัติและฝังไมโครชิปที่ระบุรหัสประจำตัว
นายชัยพร วิจิตรโสภณ เจ้าของกิจการ กล่าวว่า ได้แจ้งครอบครองสิงโตทุกตัวกับกรมอุทยานฯ ไว้ในช่วงเวลาที่เปิดการลงทะเบียนเมื่อเดือน ธ.ค.2565 ถึงเดือน มี.ค.2566 โดยเลี้ยงมาแล้ว 3 รุ่น ตั้งแต่มีการซื้อสิงโตตัวผู้และตัวเมียมา 1 คู่จากฟาร์มแห่งหนึ่งในปี 2549 ก่อนจะเพาะพันธุ์เพื่อรองรับเปิดกิจการสวนสัตว์ ไม่ใช่การเพาะพันธุ์ขาย
อ่านข่าว : "สิงโต" ไม่ใช่สัตว์ป่าที่ทุกคนจะเลี้ยงได้
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง ตรวจสวนสัตว์ใน จ.นครปฐม แล้วอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งเป็นฟาร์มที่ขายลูกสิงโตไปที่พัทยา จ.ชลบุรี แต่ไม่แจ้งครอบครองตามเวลาที่กฎหมายกำหนดภายใน 180 วัน แล้วมีการขายออกก่อนฝังไมโครชิป
นายมานะ เพิ่มพูล ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.3 (บ้านโป่ง) จ.ราชุบรี กล่าวว่า การตรวจสอบสิงโตที่นี่พบการแจ้งครอบครองไว้ 11 ตัว แต่ตายไป 3 ตัว เจ้าหน้าที่บันทึกไว้เพื่ออนุญาตให้ทำลายซาก ก่อนเช็กหมายเลขไมโครชิป เบื้องต้นยังตรงตามแจ้งทุกตัว
สำหรับที่ดังกล่าวเคยเปิดกิจการเป็นสวนสัตว์มาแล้วประมาณปี 2549 แต่กรมอุทยานฯ มีคำสั่งให้ปรับปรุงตามมาตรฐานความปลอดภัยและสวัสดิภาพสัตว์ ปัจจุบันมีเสือโคร่ง เสือดาวและสิงโต รวมกันประมาณ 20 ตัว และสัตว์จากต่างประเทศชนิดอื่นอยู่ในพื้นที่ด้วย
อ่านข่าวอื่นๆ