วันนี้ (31 ม.ค.2567) น.ส.ยศพร จันทองจีน อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบตกแต่งภายใน วิทยาลัยเพาะช่าง มทร.รัตนโกสินทร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาแมวจรในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่ถูกซ่อน ไม่มีใครพูดถึงมากนักโดยเฉพาะแมวในชุมชนที่ถูกซ่อนในเมือง
แมวจรจัดมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ซ่อนตัวอยู่ในเขตพื้นที่เมืองหรือชุมชน ทำให้ปัญหาแมวจร อาจถูกมองข้าม เนื่องจากคนในสังคมไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือผลกระทบที่เกิดจากแมวจร ไม่ได้ส่งผลรุนแรงต่อทรัพย์สินหรือชีวิต ต่างจากปัญหาหมาจรจัดที่มีการใช้พื้นที่ซ้อนทับกับผู้คน ทำให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนที่ชัดเจนและรุนแรงกว่า
น.ส.ยศพร กล่าวว่า เหตุดังกล่าวจึงทำให้ปัญหาแมวจรจัด ถูกมองข้ามจากผู้คนในสังคม และไม่ได้ตระหนักถึงจำนวนแมวจร ในเขตพื้นเมืองที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี และขาดการให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังจากคนในสังคม
จึงได้จัดทำโครงการ 2024 อัณฑะเหมียวครองเมือง นิทรรศการงานศิลปะจาก "จรจัดสรร" ซึ่งเป็นงานศิลปะที่สร้างการสื่อสารไปสู่คนในสังคมเพื่อสะท้อนปัญหาแมวจรจัด ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ผลงานชิ้นนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสื่อสารและให้ความรู้ สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหา รวมถึงสร้างความร่วมมือ และความเข้าใจวิธีการจัดการที่ถูกวิธี ให้คนในสังคมได้ สามารถช่วยลดปัญหาแมวจรในเขตพื้นเมืองได้ไม่มากก็น้อย
สำหรับที่มาของ "2024 อัณฑะเหมียวครองเมือง" จัดโดยกลุ่มคนทำงานเพื่อสัตว์จรจัดที่พัฒนาจากงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหมาจรจัดอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ผลงานที่หลายคนน่าจะเคยเห็นผ่านตามาก่อนอย่าง "พัก พิง" งานออกแบบขนาดเล็กที่ติดตั้งเข้ากับกำแพง เพื่อเป็นที่พักพิงให้กับสัตว์ในเมือง
น.ส.ยศพร กล่าวว่า แมวจรเป็นปัญหาที่ถูกซ่อนไม่มีใครพูดถึงมากนัก โดยเฉพาะแมวในชุมชนที่ถูกซ่อนในเมือง จรจัดสรร ในปีนี้จึงหยิบประเด็นแมวจรมาพูดถึงในงาน Bangkok Design Week 2024 โดยผ่านแนวคิด "ไข่แมว" พวงโต ที่เป็นสัญลักษณ์ถึงแมวตัวผู้ที่ยังไม่ได้ทำหมันและการหาบ้านเชิงรุก ที่พาคนและแมวให้มาเจอกันผ่านงานศิลปะ
พร้อมกับสัมผัสความน่ารักของแมวจร ภายในงานเป็นการร่วมมือกับเหล่าศิลปิน ในการสร้างผลงานศิลปะหลากหลาย โดยเฉพาะการสร้างเฟรมอัณฑะเหมียว ขนาดจิ๋ว ที่ให้ศิลปินเพนต์อัณฑะแมวตามสไตล์ของตัวเอง 350 เฟรม เพื่อนำผลงานมาประมูลนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไปทำหมันแมวจร
รวมทั้งการหาบ้านให้แมวจรที่อยู่ในศูนย์พักพิง ภายในงานนอกจากชมผลงานศิลปะแล้ว มีแมวจรที่มาจากศูนย์พักพิง 21 ตัว จากสถานพักพิงสัตว์จรจัดกรุงเทพฯ ได้ออกมาเดินเล่น เพื่อสร้างความคุ้นชินและเปิดโอกาสในการหาบ้านมากขึ้น
ใครที่อยากจะได้แมวกลับบ้าน ทางโครงการจะมีศูนย์คัดกรองความเหมาะสม ถึงจะนำกลับบ้านได้ แต่สำหรับคนทั่วไปก็สามารถลงทะเบียนรับแมวไปเลี้ยงได้ ที่ SOS Animal Thailand
ทั้งนี้ SOS Animal Thailand ก่อตั้งโดย อรสิรินทร์ เชิงสะอาด ที่เป็นหน่วยงานช่วยเหลือสวัสดิภาพสัตว์ และการหาบ้านให้แมวจร ซึ่งสัตว์ในศูนย์พักพิงมาจากการร้องเรียนและการแพร่พันธุ์โดยไม่ได้ทำหมัน ที่มีจำนวนมาก แมวที่อยู่ในศูนย์พักพิงจะไม่มีโอกาสออกมาวิ่งเล่น
ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรง การเปิดพื้นที่ตรงนี้ถือว่าได้เปิดโอกาสให้คนกับแมวทำกิจกรรมร่วมกัน คนที่อยากได้แมวไปเลี้ยงได้สัมผัสกับแมวจริงๆ เพราะแมวแต่ละตัวมีนิสัยที่แตกต่างกัน และเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจว่าแมวตัวนี้เหมาะสมกับเราไหม เราสามารถเลี้ยงแมวตัวนี้ได้ไหม
นอกจากนี้ยังมีคาเฟ่แมว นิทรรศการศิลปะจาก "จรจัดสรร" ครั้งนี้ เป็นการสื่อสารปัญหาสัตว์จรจัดสู่สังคม สร้างการตระหนักรู้ด้วยศิลปะการออกแบบ โดยร่วมมือกับ อาจารย์ทศพล งามวิไลลักษณ์ และ ผศ.เปี่ยมจันทร์ บุญไตร วิทยาลัยเพาะช่าง หนึ่งในทีมงานออกแบบ
อาจารย์ทศพล เป็นผู้ออกแบบเฟรมอัณฑะเหมียวครองเมือง โดยการปั้นไข่แมวให้มีความน่ารักประกอบกับเฟรมผ้าใบเพื่อให้ทุกคนได้เพ้นท์และมีส่วนร่วมในงาน นอกจากนี้ภายในงานยังประกอบด้วยผลงานประติมากรรม ในรูปแบบ installation โดย ผศ.เปี่ยมจันทร์ ผ่านรูปทรงขนาดเท่าจริงจากวัสดุหลากหลาย ให้มีสีสันสดใส ติดตั้งทั้งภายในและภายนอกอาคาร สร้างจุดเด่นให้ผู้คนสนใจเข้ามาชมผลงานในนิทรรศการมากขึ้น
งานนี้ไม่ใช่เพียงเหล่าทาสแมวมาเดินในงานเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ปัญหาแมวจรลดน้อยลง และเปิดให้แมวจรมีโอกาสหาบ้านที่อบอุ่นและยังเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจในการรับเลี้ยงแมวในอนาคตมากขึ้น ไม่แน่ว่าแมวจรเหล่านี้อาจทำให้เราตกหลุมรักจนพากลับบ้านไปด้วยกันก็ได้
ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ระบุว่า ในปี 2559 มีจำนวนแมวจรจัดในพื้นที่กทม. 89,269 ตัว โดยแมวสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว แมว 1 ตัว สามารถออกลูกได้ 4 คอกต่อปี และใน 1 คอกเฉลี่ยแล้วสามารถออกลูกได้สูงถึง 4 ตัว
สำหรับนิทรรศกาล Exhibition อัณฑะเหมียวครองเมือง2024 by จรจัดสรร เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.-4 ก.พ.2567 เวลา 10.30-18.00 น.จัดที่หอศิลปะและการออกแบบ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
รายงานโดย: ศิริวรรณ ศรีสุข โปรดักชันออนไลน์ สาขาทาสแมว ไทยพีบีเอส ออนไลน์