วันนี้ (6 ก.พ.2567) นายอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข ฝ่ายบีอาร์เอ็น สวมชุดมลายู เข้าร่วมพูดคุยสันติสุขกับนายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย โดยมี พล.อ.ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน เป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยการแต่งกายมุสลิมครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ ที่กองทัพภาคที่ 4 ได้ดำเนินคดีกับนักกิจกรรมในพื้นที่หลายคน
อ่านข่าว : เริ่มแล้ว “พูดคุยสันติสุข” เต็มคณะครั้งที่ 7 “ฉัตรชัย” เริ่มงานแรก หลังรับตำแหน่ง
ซึ่งในมุมมองของนายฮาร่า ชินทาโร่ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามาลายู เห็นว่า การดำเนินคดีกับนักกิจกรรม หรือกลุ่มผู้คิดต่างของกองทัพในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนจะสวนทางกับการพูดคุย จึงไม่ได้มีความคาดหวังมากนักว่า การหารือในช่วงเวลาเพียง 2 วัน จะมีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรได้ อีกทั้งยังไม่แน่ใจว่า การมีหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยชุดใหม่ เป็นพลเรือนคนแรก จะมีอำนาจในการลงนามหรือไม่
การพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ ที่ประเทศมาเลเซีย
ส่วนเหตุรุนแรงที่เกิดถี่ขึ้นในช่วงก่อนการพูดคุย มองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะแม้จะมีการพูดคุยสันติสุข แต่ก็ยังไม่มีอะไรมารับรองได้ว่า ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อหยุดปฏิบัติการทางทหาร
เช่นที่เคยเกิดขึ้นในการหยุดยิงช่วงเดือนถือศีลอด ส่วนข้อสังเกตว่า การพูดคุยอาจจะยังไม่มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกัน เพราะการเจรจาก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม
อ่านข่าว : เปิดไทม์ไลน์ 15 ปี คดี "ทักษิณ" ให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติ สู้คดี ม.112
การมองยังไม่เห็นจุดหมายปลายทาง ทั้งจากบีอาร์เอ็น และฝ่ายไทยเป็นเรื่องปกติ เพราะจนถึงตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นเจรจา แต่เป็นแค่การพูดคุยกันเอง นอกจากนี้ฝ่ายไทยก็ยังไม่มีการลงนามใดใด หรือลงนามในข้อตกลงใดใด นี้ก็อาจเป็นอุปสรรคที่จะทำให้ไม่มีความคืบหน้าด้วย
นายฮาร่า กล่าว
สำหรับชาวบ้านใน จ.ยะลา บางคน เห็นตรงกันว่า การดำเนินคดีปิดปากกับนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหว อาจจะส่งผลต่อการพูดคุยโดยตรง ซึ่งรัฐต้องเลือกว่า จะเปิดเวทีให้คนแสดงความคิดที่แตกต่าง หรือให้จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้ พร้อมทั้งมองว่า คณะพูดคุยสันติสุข ยังขาดการสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้หลายคนไม่ทราบ
การเปิดให้คนในพื้นที่ได้รับรู้ และมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญมาก และอยากให้ทั้งสองฝ่ายถอยคนละก้าว สำหรับการเสนอข้อเสนอบางอย่าง ที่อาจจะยอมกันไม่ได้ และเว้นช่องว่างระหว่างกัน เพื่อให้เดินต่อให้ได้ เชื่อว่าหากทั้งสองฝ่ายยอมถอยบ้าง ก็จะตกลงกันได้
นายคลองธรรม แซเจ่น ชาว จ.ยะลา กล่าว
ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหารต้มยำกุ้ง ย่านการค้าสำคัญในบูกิตบินตัง กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เช่น นางจิรนันท์ ตะเรือน บอกว่า หลายคนก็อยากเห็นความสงบสุขในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ย้ายมาทำงานในมาเลเซีย
ตนเชื่อว่า หากความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นมีกินมีใช้ สถานการณ์ความรุนแรงก็จะดีขึ้นด้วย จึงอยากให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารต้มยำกุ้งด้วย โดยเฉพาะการเจรจากับทางการมาเลเซีย ในการออกใบอนุญาตทำงานให้คนไทยได้อย่างถูกกฎหมาย
ถ้าคนมีเงิน มีกินมีใช้ เหตุการณ์รุนแรงมันก็อาจจะน้อยลง เพราะคนมีกินมีใช้ คนก็ไม่ต้องดิ้นรนไปไหน ถามว่า คนมาทำงานที่มาเลย์ ไม่ได้สบายนะ เราต้องทำงานหนัก เงินที่เราได้ เราก็ส่งกลับประเทศ ส่งไปให้ครอบครัวเราในไทยนั้นแหละ แล้วทำไมรัฐบาลไทย ไม่หารือกับรัฐบาลมาเลย์ อุ้มพวกเราบ้าง ให้เราได้ทำงานได้ เหมือนที่รัฐบาลไทยก็อุ้มแรงงานข้ามชาติต่าง ๆ ที่ทำงานในไทย
ผู้ประกอบการร้านอาหารต้มยำกุ้งในมาเลเซีย กล่าว
อ่านข่าว : นายกฯ โยนถาม ยธ.ปม "ทักษิณ" คดี ม.112 - "ทวี" อุบพักโทษ 18 ก.พ.
การพูดคุยสันติสุขในวันนี้ มุ่งเน้นไปที่ในการสานต่อในการจัดทำ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP ใน 3 เรื่อง คือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งก็หลายฝ่ายมีการติดตามอย่างใกล้ชิด
เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้