การเลือกตั้งอินโดนีเซีย ในวันที่ 14 ก.พ.2567 นี้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 204 ล้านคนจะใช้สิทธิ์ที่หน่วยเลือกตั้ง 2,000 แห่ง โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะครอบคลุมตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปจนถึงสมาชิกสภาผู้แทนระดับภูมิภาค และการเลือกตั้งมีผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้นำ 3 คน คือ ปราโบโว ซูเบียนโต, อานีส บาสเวอดัน และ กันจาร์ ปราโนโว
อ่าน "ชวากลาง" สนามเลือกตั้งสำคัญของอินโดนีเซีย
"ปราโบโว ซูเบียนโต"
1. "ปราโบโว ซูเบียนโต" (Prabowo Subianto) รัฐมนตรีกลาโหมและหัวหน้าพรรคเกอรินดรา (Gerindra) วัย 72 ปี เป็นอดีตนายพล และลูกเขยของอดีตผู้นำเผด็จการซูฮาร์โต
ปราโบโว จบการศึกษาจากสถาบันทหาร Armed Forces Academy (AKABRI) ในปี 1974 และรับราชการในกองทัพนาน 28 ปี ก่อนที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง หลังจากอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งปกครองอินโดนีเซียด้วยระบบเผด็จการยาวนาน 32 ปี ประกาศลาออกจากตำแหน่งในปี 1998
ปราโบโว ซูเบียนโต
ปราโบโวเดินทางกลับมายังอินโดนีเซียในปี 2001 หลังจากลี้ภัยไปยังจอร์แดน และเดินตามรอยเท้าพี่ชายในฐานะนักธุรกิจ ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่การเมือง ในปี 2004 ก่อนร่วมก่อตั้งพรรคเกอรินดราในปี 2008
การลงสนามเลือกตั้งระดับชาติในครั้งนี้ถือเป็นความพยายามครั้งที่ 3 ของปราโบโวในการชิงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศ หลังจากเคยพ่ายให้โจโค วีโดโด ในปี 2014 และ 2019 และได้รับแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหม
ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ปราโบโวดึงตัว "กีบราน ราคาบูมิง ราคา" นายกเทศมนตรีเมืองซูราการ์ตา วัย 36 ปี ซึ่งเป็นลูกชายคนโตของโจโควี เป็นผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเพื่อกวาดคะแนนเสียงจากผู้สนับสนุนผู้นำคนปัจจุบันและฟอกขาวภาพลักษณ์ของตัวเอง เนื่องจากเขาถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และปราบปรามขบวนการเรียกร้องเอกราชในติมอร์ตะวันออก
ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรัฐมนตรีกลาโหมของอินโดนีเซีย ปราโบโว ซูเบียนโต (ซ้าย) และผู้สมัครรองประธานาธิบดี กิบราน รากาบูมิง รากา
ประเด็นนี้จุดชนวนให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเห็นชอบให้กีบรานลงสมัครได้ทั้งที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ 40 ปี เนื่องจากกีบรานเคยมีประสบการณ์ในการบริหารระดับภูมิภาคมาแล้ว ซึ่งหัวหน้าคณะผู้พิพากษาเป็นน้องเขยของโจโควี
อย่างไรก็ตาม ปราโบโวเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีคะแนนนิยมนำลิ่วในการสำรวจความเห็นประชาชน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ปราโบโวปรับภาพลักษณ์ของตัวเองให้เข้าถึงเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น อีกทั้งปีนี้มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่อายุระหว่าง 17 - 40 ปี อยู่มากถึง 56.5% ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถจำบทบาทของปราโบโวในยุคเผด็จการได้
"อานีส บาสเวอดัน"
2. "อานีส บาสเวอดัน" (Anies Baswedan) อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา วัย 56 ปี
อานีสสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะเศรษฐศาสตร์และธุรกิจมหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดา ก่อนที่จะคว้าปริญญาโทในสาขาวิชานโยบายสาธารณะ และปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา
อานีเอส บาสเวดาน (ซ้าย) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
อานีสก้าวเข้าสู่การเมืองระดับประเทศในปี 2013 ก่อนได้รับการแต่งตั้งจากโจโควี ให้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการและวัฒนธรรม
อานีส บาสเวอดัน
ในปี 2017 อานีสคว้าตำแหน่งผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาเอาไว้ได้ และก่อนที่วาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการของอานีสจะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2022 พรรค NasDem ประกาศจะสนับสนุนอานีสในฐานะผู้สมัครอิสระในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีนี้
"กันจาร์ ปราโนโว"
3. "กันจาร์ ปราโนโว" (Ganjar Pranowo) อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง ผู้สมัครจาก PDI-P พรรครัฐบาล วัย 55 ปี
กันจาร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดา และปริญญาโทรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่สมัยเรียนช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 หลังเข้าร่วมกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และเดินหน้าสนับสนุนเมกาวาตี ซูการ์โนปูตรี ที่ออกมาก่อตั้งพรรค PDI-P ในปี 1999
กันจาร์ ปราโนโว
ในปี 2013 กันจาร์คว้าตำแหน่งผู้ว่าการ ชวากลางสมัยแรกและได้ดำรงต่ออีกหนึ่งสมัย หลังชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2018 หลายฝ่ายมองว่ากันจาร์ประสบความสำเร็จในการสร้างฐานเสียงระหว่างนั่งเก้าอี้ผู้นำชวากลาง ตลอดช่วง 10 ปี
กันจาร์ ปราโนโว
ผู้สมัครตัวแทนพรรครัฐบาลคนนี้ มีภาพลักษณ์ติดดินและเข้าถึงง่าย ไม่ต่างจากภาพลักษณ์ของโจโควี เคยมีคะแนนนิยมนำในผลสำรวจหลายสำนัก ก่อนความนิยมจะลดลงเรื่อยๆ หลังเขาสนับสนุนการปฏิเสธไม่ให้ทีมฟุตบอลอิสราเอลเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2023 รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี จนทำให้อินโดนีเซียถูกถอดจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน
อ่านข่าวอื่น ๆ
"ขนมครก" รั้งท็อป 4 โลก ขนมตระกูลแพนเค้ก