ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กูรูเศรษฐกิจ ชี้ไทยเร่งสร้างเสน่ห์ดึงเงินลงทุน

เศรษฐกิจ
13 ก.พ. 67
14:26
696
Logo Thai PBS
“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กูรูเศรษฐกิจ ชี้ไทยเร่งสร้างเสน่ห์ดึงเงินลงทุน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ปฎิเสธไม่ได้ว่า สงครามระหว่างประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกปี2566 รวมทั้งไทยต้องเผชิญกับสารพัดปัญหา การลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐและภาคบริการที่ต้องชะลอตัวลง ทั่วโลกเกิดประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกดเงินเฟ้อ ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย และเศรษฐกิจไม่เติบโตอย่างที่คาดไว้

ปี2567 มีการคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับไทยมีทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบช้า ๆ มีการประเมินเศรษฐกิจไทยที่ร้อยละ 2.5-3 ลดลงจากที่มีการคาดการณ์เดิมร้อยละ 3-3.5 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ-0.3-1.7 อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.5% และค่าเงินบาท 33–35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

“ไทยพีบีเอสออไลน์” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถึงแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2567 โดยระบุว่า ยังทรงๆตัว เนื่องจากในช่วงต้นปี ธนาคารกลางทั่วโลกจะยังคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ แม้จะมีทิศทางที่ลดลง แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น แต่เชื่อว่าในครึ่งปีหลัง จะเริ่มเห็นสัญญาณการลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องจากธนาคารต่าง ๆ ทั่วโลก

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ปีนี้ไม่ใช่เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยจะง่าย ยังมีความท้าทายอีกมาก แม้ว่าช่วงต้นปีภาคการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจโลกยังถูกแรงกดจากดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลต่อภาคส่งออกไทยและเศรษฐกิจไทยเช่นกัน

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤติหรือไม่ ในมุมมองในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ต้องแบ่งให้ชัดเจนว่า สิ่งที่ไทยกำลังเผชิญ คืออะไร เช่น ในปี 2540 การลงทุนได้ขยายตัวอย่างคึกคัก ในช่วง 4-5 ปีแรก มีความฮึกเหิมทางเศรษฐกิจ แบงก์ปล่อยสินเชื่อ เติบโตร้อยละ 30 ทุกปี เศรษฐกิจไทยเติบโตร้อยละ 7-8 มีการลงทุนร้อยละ 40 ของจีดีพี ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดความร้อนแรง และเกิดการสะสมหนี้เสียต่าง ๆมากมาย แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเศรษฐกิจโตต่อไปไม่ได้ กลับกลายว่าติดลบหรือไม่โตจนเกิดการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ของไทย

“ตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยกลับไปอยู่ในจุดปี 2540 หรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ เพราะปีที่ผ่านมาสินเชื่อจากสถาบันการเงินแทบไม่โตขึ้น หากมองย้อนไป 4-5 ปี แบงก์ระมัดระวังมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด และบวกกับ Perfect Storm จึงเป็นช่วงที่แบงก์ปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวดและระมัดระวัง ดังนั้นโอกาสที่แบงก์จะมีปัญหา น้อยมาก”

ส่วนขยายกิจการของบริษัทต่าง ๆพบว่า บริษัทไทยลงทุนน้อยกว่าที่คิดด้วยซ้ำ ดังนั้นโอกาสที่กลับไปเป็นฟองสบู่แตกเหมือนปี 40 นั้นยากมาก ๆ

โจทย์ใหญ่ไทย “เศรษฐกิจโตช้า”กว่าเพื่อนบ้าน

ดร.กอบศักดิ์ บอกว่า ปัญหาใหญ่จริงๆของไทย คือ การที่ไม่สามารถขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ทันเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นแบบนี้มานาน 10 ปีแล้ว เศรษฐกิจไทยเติบโตได้แค่ร้อยละ3 ขณะที่มาเลเซีย มีจีดีพีโตร้อยละ 5 ส่วนประเทศจีน แม้เกิดปัญหาภายใน แต่ตัวเลขจีดีพีเติบโตถึงร้อยละ 5

“ คำถาม คือ ทำไมไทยถึงมีเศรษฐกิจโตต่ำกว่าคนอื่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะยาวคงไม่เป็นผลดี หากเศรษฐกิจไทยโตต่ำไปเรื่อย ๆ หมายความว่า ในอนาคตเศรษฐกิจไทยก็จะถูกด้อยค่าและไม่สามารถเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ แต่ไม่ใช่วิกฤติในลักษณะของปี 2540”

กูรูด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบการลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามา จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีเสน่ห์น้อยลง ช่วงวิกฤตปี 2540 เศรษฐกิจของประเทศ เติบโตขึ้นทุกปี มีการลงทุนในโครงสร้างต่าง ๆ ทั้ง อสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในอิสเทิร์นซีบอร์ด แต่ปัจจุบันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทย หรืออุตสาหกรรมใหม่มีน้อยเกินไป และกฎเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆ มากมาย ทำให้ไทยดูไม่น่าสนใจและไม่ดึงดูดนักลงทุน และที่สำคัญไทยมีเอฟทีเอน้อยกว่าเพื่อนบ้าน

โดยเฉพาะเวียดนามที่มีเอฟทีเอมากกว่าไทยหลายฉบับ ทั้งกับ เอฟทีเอ อียู, UK หรือ CPTPP จึงทำให้นักลงทุนเลือกที่จะไปลงทุนที่เวียดนามมากกว่า เพราะได้สิทธิพิเศษด้านภาษี ดังนั้นอนาคตโอกาสที่เงินลงทุนจะไหลไปเวียดนาม อินโดนีเซีย จึงมีมากกว่า

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดภาคการผลิตให้กับเวียดนาม โดยเฉพาะการผลิตสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสัดส่วนการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเปรียบเทียบกับไทยแล้วจะเห็นว่า ไทยเทียบไม่ติดเขาทิ้งเราไม่เห็นฝุ่น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไทยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันเวียดนามแซงนำหน้าไทยไปแล้ว โดยอัตราส่วนการลงทุนในเวียดนาม 3 : 1 หมายถึง จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป นี่คือปัญหาที่แท้จริงของไทย คือ โตไม่ออกและได้ส่วนแบ่งในอนาคตน้อยกว่าเพื่อนบ้าน

ปี 68 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว “เศรษฐกิจไทย”ยังไปต่อได้

สำหรับการคงอัตราดอกเบี้ยของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ร้อยละ 2.5  เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า แบงค์ชาติจะต้องพิจารณาว่าความเหมาะสมอยู่ตรงไหน แต่ในฐานะเอกชนต้องถามว่า ถ้าแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย แต่ลดลงไม่มาก ผลที่เกิดกับเศรษฐกิจคงไม่มาก เพราะเป็นการลดดอกเบี้ยระยะสั้น และไม่ได้ลดลงแบบต่อเนื่องจึงไม่ได้มีผลกับเศรษฐกิจมากนัก

และหากแบงก์ชาติต้องการให้เศรษฐกิจไทยออกจากโรคร้ายที่กำลังเผชิญอยู่ คือ การซึมอยู่กับที่ร้อยละ 3 “ดอกเบี้ย” จึงไม่ใช่คำตอบ คือ ช่วยเศรษฐกิจได้บ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการที่เศรษฐกิจจะเติบโตต่อเนื่องที่ร้อยละ3-4 หรือ ร้อยละ 4.5 ทุก ๆ ปี ต้องมาจากการลงทุน การเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยว

เศรษฐกิจไทยจะโตต่อเนื่อง ต้องมาจากส่งออก ท่องเที่ยว ถ้าเอาดอกเบี้ยมาช่วยให้เศรษฐกิจโต ผมมองว่าช่วยได้เล็กน้อยเท่านั้น ที่ควรทำ คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การลงทุนอย่างแท้จริง

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังกังวลกับกลุ่มเปราะบาง ประชาชนมีหนี้สิน ทั้งในระบบและนอกระบบ เอสเอ็มอีที่ยังไม่ฟื้นจากโควิด โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจหลักของการพยุงเศรษฐกิจ และรัฐบาลควรลงมาช่วยตรงนี้ให้มาก ซึ่งการประกันสินเชื่อให้กับภาคท่องเที่ยว รัฐบาลจะใช้เงินไม่มากและยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นโอกาสที่จีดีพีของประเทศจะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกับควรดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนไทยเพิ่มขึ้นด้วย

ปัจจัยบวกในช่วงปลายปี คือ รัฐบาลจะได้งบประมาณในเดือน พ.ค.2567 ที่ยังคงค้างท่อ ถ้าเหยียบคันเร่งดี ๆ เงินเหล่านี้ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น ขณะเดียวกันงบของปี 2568 ก็จะเข้าในช่วงเดือนต.ค. ก็จะสามารถขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ได้ดี

“เศรษฐกิจปี2568 จะเป็นช่วงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยไปได้ดี ภาคท่องเที่ยวบวกกับการลงทุนของต่างประเทศและเงินที่ออกมาจากการล้างท่ออดูแล้วก็ไม่เห็นเศรษฐกิจไทยจะแย่ลง มั่นใจว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะไปได้ การลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติจะลดด้วยความระมัดระวัง”

ไร้สัญญาณเงินฝืด คนไทยยังมีกำลังซื้อ

ส่วนสัญญาณเงินฝืดที่หลายฝ่ายวิตกกังวล ว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนนั้น กูรูด้านเศรษฐกิจ ย้ำชัดว่า ยังไม่มีสัญญาณ จากตัวเลขเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ชี้แจง ราคาพลังงานลดลงร้อยละ 5 ราคาอาหารสดลดลงร้อยละ 3 หากตัดอาหารสด และราคาพลังงานออกไป เงินเฟ้อไทยจริง ๆ จะอยู่ที่ร้อยละ 0.5-2 ต้องขอบคุณรัฐบาลที่มีมาตรการต่าง ๆ ออกมา

“เงินฝืด” หมายถึง คนไม่ใช้จ่าย ขาดความเชื่อมั่น ซึ่งดัชนีที่น่าสนใจอีกตัว คือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่อยู่ระดับ 54.5 สูงสุดในรอบ ถือว่าดีมากถ้าเทียบกับช่วงโควิดเช่นเดียวกับความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ระดับ 60 ถือว่าดีมาก นั้นหมายความว่าในอนาคตประชาชนมีความมั่นใจของเศรษฐกิจในระดับหนึ่งพร้อมใช้จ่าย ซึ่งนี้ไม่ใช่สัญญาณของเงินฝืด”

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า “เงินฝืด” คือ ต้องประเภทที่มองซ้ายมองขวาไม่กล้าใช้เงิน แต่ขณะนี้ประชาชนยังมีความเชื่อมั่นใจการใช้จ่าย และคำว่า “เศรษฐกิจฝืดเคือง” เงินไม่หมุน คนไม่อยากเที่ยว แต่วันนี้คนยังมีเงินใช้จ่ายยังออกไปเที่ยว ยังมีกำลังใช้จ่าย ซึ่งต้องดูหลายองค์ประกอบกัน สำหรับปัญหาในขณะนี้ที่ต้องแก้ไขให้ได้ คือ ประเทศไทยซึมเกินไป ดังนั้นต้องเร่งปรับโครงสร้างแก้สิ่งต่าง ๆ ทำให้ไทยกลับมามีการลงทุนอีกรอบ และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในอนาคต

ลดไซส์ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คนค้านไม่มาก

สำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โครงการแจกเงินแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญ คือ ขนาดของโครงการที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมากถึง 500,000 ล้านบาท ต้องเข้าใจว่า ปัญหา คือ อะไร รัฐบาลที่ผ่านมาก็แจกเงิน ตั้งแต่ยุค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แจกเงิน 2,000บาท หรือสมัยรัฐบาลลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดือนละ 500 บาท

การแจกเงินไม่ใช่ประเด็น ทุกรัฐบาลก็แจก แต่ครั้งนี้ใช้เงิน 500,000 ล้านบาท ปัญหา คือ ต้องมีเงินก่อน ไม่ใช่เอาเงินจากอวกาศ

ดร.กอบศักดิ์ ให้ความเห็นว่า การที่โครงการดังกล่าวมีขนาดใหญ่ ทำให้หาเงินมาใช้จ่ายยาก แต่มีขนาดเล็กลง 200,000 ล้านบาท มั่นใจว่ารัฐบาลทำได้เลย โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ทางออกที่ดีของเรื่องนี้ คือ รัฐบาลต้องยอมลดขนาดลงมาเหลือวงเงิน 300,000-350,000 ล้านบาท 

โดยใช้งบประมาณที่อยู่ในส่วนของงบประจำ และหัวใจ ของเรื่องนี้รัฐบาลต้องทำให้ถูกต้อง และมีกระบวนการทางกฎหมายรองรับโดยบรรจุโครงการในงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในงบประมาณประจำปี เพราะในทุก ๆ ปี รัฐบาลทำงบขาดทุนอยู่แล้ว ก็อาจจะขาดทุนเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

การออกพ.ร.บ. กู้เงิน วงเงิน 500,000 ล้านบาท เป็นสิ่งที่ดี แต่จะไปเอาเงินตรงไหนมาจ่าย หากโครงการเล็กลง รัฐบาลสามารถนำโครงการไปอยู่ในส่วนของงบประจำ ซึ่งเกิดขึ้นง่ายกว่า พอลดขนาดลงนักเศรษฐศาสตร์ก็จะไม่ค้าน การต่อสู้ก็จะไม่เยอะ โดยช่วงท้ายๆของปียังมีโอกาสที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้

 

 

อ่านข่าวอื่นๆ:

ข้าวไทย บนฝ่ามือ “ภูมิธรรม เวชยชัย” วิกฤต-ความหวัง ชาวนาไทย

"การวางจุดยืนของไทยสำคัญที่สุด" เปิดใจ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" เจ้ากระทรวงบัวแก้ว

ส่งออกข้าวไทยทะลุเป้า ห่วงภัยแล้งกระทบ แนะเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวสู้ตลาดโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง